บลจ.กสิกรไทย เปย์ปันผลกองหุ้นสหรัฐฯ – ยุโรป – ไทย กว่า 300 ล้าน ลูกค้าเฮรับพร้อมกัน 14 ส.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 13, 2019 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--บลจ.กสิกรไทย นายสุรเดช เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทย จ่ายปันผล 4 กองทุน ซึ่งประกอบด้วยกองทุนหุ้นต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดเค ยูเอสเอ หุ้นทุน (K-USA) สำหรับรอบผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2562 ถึง 31 กรกฎาคม 2562 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดเค ยูโรเปียน หุ้นทุน (K-EUROPE) สำหรับรอบผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2561 ถึง 31 กรกฎาคม 2562 ในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย และกองทุนหุ้นไทย ได้แก่ กองทุนเปิดเค หุ้นปันผล (K-VALUE) สำหรับรอบผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ถึง 31 กรกฎาคม 2562 ในอัตรา 0.41 บาทต่อหน่วย และกองทุนเปิดรวงข้าว 4 (RKF4) สำหรับรอบผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2561 ถึง 31 กรกฎาคม 2562 ในอัตรา 0.18 บาทต่อหน่วย โดยทั้ง 4 กองทุนมีกำหนดจ่ายปันผลพร้อมกันในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 388.16 ล้านบาท นายสุรเดชกล่าวต่อไปว่า กองทุน K-USA ได้รับการจัดอันดับ Overall Morningstar Rating 5 ดาว ในกลุ่ม US Equity โดยมีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ และจ่ายปันผลปีละไม่เกิน 4 ครั้ง ซึ่งนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนมีการจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่วนกองทุน K-EUROPE ได้รับการจัดอันดับ Overall Morningstar Rating 4 ดาว ในกลุ่ม Europe Equity โดยมีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นยุโรปที่มีการเติบโตสูง (Growth stock) ทั้งนี้ สำหรับอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน 4 ไตรมาสย้อนหลัง (Dividend Yield) ของกองทุน K-USA อยู่ที่ 6.60% ต่อปี และกองทุน K-EUROPE 6.67% ต่อปี (ข้อมูลการจัดอันดับ Overall Rating จาก Morningstar ณ วันที่ 28 มิ.ย. 62) ด้านกองทุนหุ้นไทยทั้งกองทุน K-VALUE และ RKF4 จะเน้นลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงสูง และมีนโยบายจ่ายปันผลปีละไม่เกิน 2 ครั้งเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง 2 กองทุนมีความแตกต่างกันที่มูลค่าเงินปันผล โดยกองทุน K-VALUE จะเน้นจ่ายปันผลในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ทั้งนี้ สำหรับอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน 4 ไตรมาสย้อนหลัง (Dividend Yield) ของกองทุน K-VALUE อยู่ที่ 5.86% ต่อปี และกองทุน RKF4 อยู่ที่ 2.40% ต่อปี "บลจ.กสิกรไทย มองภาพรวมเศรษฐกิจว่ายังคงมีความผันผวน จากประเด็นที่สหรัฐฯเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ในขณะที่ธนาคารจีนตอบโต้โดยการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะโตต่ำกว่าคาด เนื่องจากคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะหดตัวลง และประเด็นสงครามการค้าที่น่าจะมีความยืดเยื้อ ด้านเศรษฐกิจยุโรปมีแรงหนุนจากการบริโภคในภูมิภาคที่ยังเติบโตดี ประกอบกับการที่ธนาคารกลางยุโรปยังคงรักษามาตรการผ่อนคลายทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามประเด็น Brexit ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะ No-Deal Brexit กดดันให้ค่าเงินปอนด์ร่วงลงต่อเนื่อง สำหรับตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นคาดว่าจะยังคงได้รับความผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนในระยะยาวยังมีมุมมองเป็นบวก เนื่องจาก รัฐบาลไทยมีความชัดเจนในการสานต่อนโยบายโครงสร้างภาครัฐขนาดใหญ่และ EEC พร้อมทั้งเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยต่อไป" นายสุรเดชกล่าว นายสุรเดชกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความผันผวนของตลาดโลกในช่วงนี้ ผู้ลงทุนควรใช้หลักการลงทุนแบบ 4D เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน โดยผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง ควรปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปรวมกันไม่เกิน 10% ของพอร์ต อีกทั้งทยอยลงทุนหุ้นไทยในสัดส่วน 25% - 30% ของพอร์ต เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอป K-My Funds หรือสมัครบริการ K-Cyber Invest เพื่อดูผลการดำเนินงานของกองทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น และเริ่มต้นลงทุนได้เพียง 500 บาท ผ่าน K-My Funds, บริการ K-Cyber Invest, ธนาคารกสิกรไทย และผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน โดยติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนได้ตามช่องทางดังกล่าว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ KAsset Contact Center 0 2673 3888 ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com หรือ บลจ.กสิกรไทย หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือขอข้อมูลดังกล่าวจากบุคคลที่เสนอขายหน่วยลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้ยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุน K-USA และ K-EUROPE ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนมิได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนจึงอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้