กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ร่วมกับ องค์การยูเนสโก สำนักงานเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จัดกิจกรรม "Hack Culture: กระเทาะเปลือกวัฒนธรรม: การแก้ปัญหาด้วยสื่อดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพสตรีและรักษาหัตถกรรมท้องถิ่น" (Hack Culture: Digital Solutions to Empower Women & Safeguard Traditional Crafts) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างซัมซุงและยูเนสโก ที่ต้องการเสริมพลังแก่สตรีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำงานหัตถกรรม ด้วยทักษะดิจิทัลและทักษะการค้าขาย พร้อมทั้งส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาหัตถกรรม โดยกิจกรรมแฮ็คคาธอน (Hackathon) ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาต้นแบบผลงานสื่อดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีช่วยบันทึกและสืบทอดมรดกภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมท้องถิ่น สร้างโอกาสทางการตลาดและการค้าให้กับสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ฯ นำทีมให้ความรู้โดยอาสาสมัครซัมซุง ผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจหัตถกรรม และคณาจารย์จากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นางสาวจีเฮียน ยูน ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (ประเทศเกาหลี)
เผยว่า "การเสริมพลังให้กับคนในสังคมผ่านการมอบความรู้ นวัตกรรม และสร้างสรรค์ผลงาน เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของซัมซุงทั่วโลก โดยซัมซุงได้มุ่งส่งเสริมการศึกษาให้สตรีและคนรุ่นใหม่มาตั้งแต่ปี 2553 กิจกรรม "Hack Culture: กระเทาะเปลือกวัฒนธรรม: การแก้ปัญหาด้วยสื่อดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพสตรีและรักษาหัตถกรรมท้องถิ่น" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Samsung OneWeek ซึ่งเป็นโครงการที่ซัมซุงนำพนักงานอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มามอบความรู้แก่ชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยในปีนี้พนักงานชาวเกาหลีร่วม 200 คน ได้กระจายตัวไปทำกิจกรรมอาสาสมัครเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ใน 6 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ กัมพูชา คาซัคสถาน อินโดนีเซีย ไทย เนปาล และฮังการี ซึ่งกิจกรรมในแต่ละประเทศจะมีลักษณะแตกต่างกัน ตามความต้องการและบริบทของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ซัมซุงและพนักงานยังต้องการสื่อให้สังคมรับรู้ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์ต่อชุมชน"
"สำหรับในประเทศไทย ซัมซุงได้ร่วมมือกับยูเนสโก จัดงานแฮ็คคาธอนเพื่ออบรมให้ความรู้การใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับหัตถกรรมท้องถิ่นให้กับสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยปลดล็อคข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีของพวกเธอแล้ว ซัมซุงยังหวังว่า ทักษะดิจิทัลจะเป็นประโยชน์ในการสร้างรายได้ และเป็นเครื่องมือในการส่งผ่านภูมิปัญญาหัตถกรรมจากรุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ ไปสู่เจเนอเรชั่นใหม่ รุ่นต่อรุ่น" นางสาวยูน กล่าวเสริม
ดร.ซุง บี แฮน์ หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า "สตรีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งสามารถสร้างสรรค์และผลิตสินค้าหัตถกรรม โดยใช้วิธีสืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นมาแต่อดีต แต่ปัจจุบัน สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการลงสำรวจพื้นที่ของยูเนสโกพบว่า จังหวัดเชียงใหม่เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ทั่วโลก ความอยู่รอดของทักษะงานฝีมือกำลังเสี่ยงที่จะสูญหายไปจากปัจจัยรอบด้านมากมาย เช่น การแข่งขันจากผู้ผลิตที่ใช้เครื่องจักรในการผลิตสินค้าที่ถูกและรวดเร็วกว่า รวมถึงคนรุ่นใหม่ในชนเผ่าที่ไม่มีความสนใจในการทำงานหัตถกรรม จึงเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือระหว่างซัมซุงและยูเนสโก ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นตัวช่วยในการสร้างโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าหัตถกรรม และช่วยให้ชนเผ่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น"
นางสาวจงฮวี ปาร์ค ผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา องค์การยูเนสโก กล่าวว่า "ยูเนสโกเชื่อว่าการศึกษาเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชน และองค์กรฯ มีเป้าหมายในการสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงเพศ รายได้ ภูมิลำเนา สัญชาติ สถานภาพความทุพพลภาพ และความแตกต่างด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวจนถึงปีพ.ศ. 2573 เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) สำหรับกิจกรรมแฮ็คคาธอนในครั้งนี้ ยูเนสโกมีความยินดีที่ได้เห็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นไปได้สำหรับทุกคน ยูเนสโกและซัมซุงจะร่วมกันสร้างต้นแบบเทคโนโลยีที่ใช้งานได้อย่างยั่งยืนและเหมาะสมผ่านกิจกรรมแฮ็คคาธอนนี้"
นายวิชัย พรพระตั้ง รองประธานที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์องค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เสริมว่า "นอกจากเทคโนโลยีจะสามารถช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแล้ว ยังสามารถเป็นส่วนสำคัญในการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน ซัมซุงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน โดยกิจกรรม Hack Culture ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สตรีชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่เข้ารับการอบรม สามารถนำทักษะจากแฮ็คคาธอน มาขยายผลต่อให้กับคนในชุมชนหมู่บ้านดอยปุย ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นราว 1,408 คน ประกอบด้วย 3 ชนเผ่า ได้แก่ ม้ง ปกากะญอ (กะเหรี่ยง) และคนพื้นเมือง โดยพวกเขาสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือนำพารายได้มาสู่ครอบครัวและชุมชน และเกิดการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน"
กิจกรรม "Hack Culture: กระเทาะเปลือกวัฒนธรรม: การแก้ปัญหาด้วยสื่อดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพสตรีและรักษาหัตถกรรมท้องถิ่น" จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับวันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 9 สิงหาคม ของทุกปี เป็นการเสริมพลังและสนับสนุนงานหัตถกรรมสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ จัดขึ้นเป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 6-9 สิงหาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาร่วมหนึ่งสัปดาห์ สตรีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและอาสาสมัครซัมซุงได้แบ่งกลุ่มเพื่อร่วมแข่งขันพัฒนาต้นแบบผลงานสื่อดิจิทัล ในรูปแบบแอพพลิเคชั่นมือถือ หรือเว็บไซต์อย่างง่าย เพื่อใช้บันทึกและถ่ายทอดเรื่องเล่ามรดกภูมิปัญญา รวมถึงเป็นช่องทางโฆษณาและขายสินค้า
ทั้งนี้ ท่านสื่อมวลชนสามารถดาวน์โหลดข้อมูลข่าว และติดตามข่าวสารจากซัมซุงล่าสุดได้ที่ ห้องข่าวซัมซุง ประเทศไทย (Samsung Newsroom Thailand) https://news.samsung.com/th/
เกี่ยวกับ ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์
บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จุดประกายแรงบันดาลใจและสร้างวิถีแห่งอนาคตด้วยความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยบริษัทได้สร้างนิยามใหม่ให้กับโลกของโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน อุปกรณ์อัจฉริยะสวมใส่ได้ แท็บเล็ต กล้องถ่ายภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุปกรณ์การแพทย์ ระบบเครือข่าย สารกึ่งตัวนำและ LED โซลูชั่น สำหรับข่าวสารล่าสุด ท่านสามารถเยี่ยมชม Samsung Newsroom ได้ที่ news.samsung.com