กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
สตง. ยกระดับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยก้าวสู่เวทีสากลตามนโยบายของคณะกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดิน โดยล่าสุดได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณะมนตรีขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศด้านการตรวจเงินแผ่นดินที่มีความสำคัญมากที่สุด และเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีประเทศสมาชิกมากที่สุดลำดับสอง รองจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ผู้ว่าฯ สตง. ชี้ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงกลไกการตรวจสอบของประเทศไทยที่ได้รับความเชื่อมั่นในสายตาชาวโลก พร้อมเตรียมเดินหน้ากำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป
ทั้งนี้ องค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (International Organization of Supreme Audit Institutions – INTOSAI) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 194 ประเทศ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา INTOSAI ได้ดำเนินบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบทิศทาง การพัฒนา การถ่ายทอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการตรวจสอบระหว่างองค์การตรวจเงินแผ่นดินของประเทศสมาชิกทั่วโลก และองค์กรตรวจเงินแผ่นดินของประเทศไทยได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกของ INTOSAI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นำโดยศาสตราจารย์ ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะเจ้าหน้าที่ของ สตง. ได้เดินทางไปร่วมประชุมคณะมนตรีขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (Asian Organization of Supreme Audit Institutions – ASOSAI) ครั้งที่ 54 ระหว่างวันที่ 21-24 กรกฎาคม 2562 ณ เมืองคูเวตซิตี้ รัฐคูเวต โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ คือ การคัดเลือกประเทศสมาชิกที่เป็นคณะมนตรีของ ASOSAI (ASOSAI Governing Board) จำนวน 2 ประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินในระดับภูมิภาคเอเชีย ให้ทำหน้าที่เป็นคณะมนตรีขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI Governing Board)
"การเลือกตั้งครั้งนี้มีองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน 4 ประเทศที่เสนอตัวเข้าแข่งขัน ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น ซึ่งดำรงตำแหน่ง INTOSAI Governing Board ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2561 2) เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นอดีตประธาน INTOSAI Governing Board ปี พ.ศ. 2543-2549 3) เวียดนาม ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน ASOSAI และ 4) ประเทศไทย ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธาน ASOSAI ในวาระถัดไปคือ ปี พ.ศ. 2564-2566 โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่า สตง.ไทย ได้รับคะแนนเสียง 6 เสียง จากประเทศคณะมนตรี ASOSAI ทั้งหมด 11 ประเทศ ถือว่ามีคะแนนสูงสุดเป็นลำดับที่สอง รองจากองค์กรตรวจเงินแผ่นดินญี่ปุ่น มีผลทำให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินของญี่ปุ่น และไทย ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินในระดับภูมิภาคเอเชีย ให้ทำหน้าที่เป็น INTOSAI Governing Board ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ตั้งแต่การตรวจเงินแผ่นดินได้ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และถือเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจของคนตรวจเงินแผ่นดินทุกคน" นายประจักษ์ กล่าว
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า INTOSAI Governing Board ประกอบด้วย ๒๑ ประเทศ โดยแบ่งออกเป็นคณะมนตรีโดยตำแหน่ง (Ex-officio) จำนวน ๑๐ ประเทศ และคณะมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของสมัชชาใหญ่ จำนวน ๑๑ ที่นั่ง มีวาระคราวละ ๖ ปี ซึ่งในบทบัญญัติธรรมนูญการบริหารงานของ INTOSAI ได้กำหนดให้ INTOSAI Governing Board มีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากสมัชชาใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ INTOSAI รวมถึงการทบทวนและรับรองแผนยุทธศาสตร์ของ INTOSAI เป็นต้น
"คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้กำหนดนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินที่สำคัญในหลายด้าน โดยเฉพาะการยกระดับให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้านการตรวจสอบ ในระดับสากล รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ สตง. ทำหน้าที่เป็น ผู้ประเมินผล ติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารเงินแผ่นดินที่ตอบสนองต่อ การนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Auditing Sustainable Development Goals) หรือ Auditing SDGs ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนางานตรวจสอบของ INTOSAI ในอนาคตที่มุ่งหวังให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องการตรวจสอบ SDGs ดังนั้น การดำรงตำแหน่งคณะมนตรีของ INTOSAI จึงเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน และนับเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของ สตง.ไทยในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงกลไก การตรวจสอบของประเทศไทยที่ได้รับความเชื่อมั่นในสายตาของนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านความโปร่งใสของประเทศไทยในระยะยาว" นายประจักษ์ กล่าว
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวในตอนท้ายว่า การดำรงตำแหน่ง INTOSAI Governing Board นับเป็นก้าวแรกของการยกระดับงานด้านการต่างประเทศ สตง. จึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในส่วนของทิศทางการสร้างความร่วมมือกับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินและแหล่งทุนต่างประเทศ การพัฒนางานวิชาการต่างประเทศโดยเผยแพร่ผ่านช่องทางที่มีความหลากหลาย ตลอดจนการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทีม External auditor สำหรับการตรวจสอบองค์กรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดประชุม Workshop แลกเปลี่ยนความรู้กับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินประเทศอื่น ๆ เป็นต้น