กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ไบเออร์ไทย
นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสร้าง Smart Farmer สู่การเป็นทูตความปลอดภัยด้านข้าว (Rice Safe Use Ambassador) โครงการทูตความปลอดภัยด้านข้าว กับนายวีรพล เจริญพานิช ผู้บริหารประจำประเทศไทย
และเวียดนาม แผนกครอปซายน์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เพื่อสร้าง Smart Farmer ให้มีความรู้ในการใช้สารอารักขาพืชทางการเกษตรอย่างถูกต้อง และสามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในชุมชนในฐานะทูตความปลอดภัยด้านข้าวให้มีการปฏิบัติที่ถูกหลักวิชาการ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ
นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตข้าวของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายขั้นพื้นฐานที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและผลผลิตข้าวอย่างต่อเนื่อง การผลิตข้าวยังคงมีต้นทุนการผลิตสูง เพราะมีการใช้ปัจจัยการผลิตที่มากเกินความจำเป็นและใช้ไม่ถูกต้อง ทั้งในเรื่องของชนิด อัตรา และช่วงเวลา ซึ่งปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือ การใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง ถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้อง และเหมาะสมอาจเกิดอันตรายต่อชาวนาและผู้บริโภค ดังนั้น เพื่อให้ชาวนาตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตข้าวปลอดภัย พร้อมทั้งเป็นการยกระดับสู่การเป็นชาวนามืออาชีพในอนาคต กรมการข้าวจึงได้ดำเนินโครงการสร้าง Smart Farmer สู่การเป็นทูตความปลอดภัยด้านข้าว ร่วมกับ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เพื่อวางแนวทางการพัฒนาให้ชาวนาไทยก้าวสู่ความเป็น Smart Farmer ที่มีกระบวนการผลิตข้าวปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงมีการจัดสรรทรัพยากรการผลิตทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการข้าว มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้แก่ชาวนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตข้าว โดยดำเนินการฝึกอบรมและให้ความรู้เพื่อพัฒนาชาวนารุ่นใหม่ให้เป็น Smart Farmer และสามารถที่จะเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำกับสมาชิกในชุมชนเกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการผลิตข้าวอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการผลิตข้าว GAP ที่กรมการข้าวให้ความสำคัญมาโดยตลอด ซึ่งโครงการทูตความปลอดภัยด้านข้าวไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการฝึกอบรมให้กับชาวนาที่เป็น Smart Farmer แต่จะให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปลอดภัยทั่วประเทศ ในการสร้างการรับรู้ในชุมชนเกี่ยวกับการผลิตข้าวและการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกรที่ถูกคัดเลือกจำนวน 200 คนจากทั่วประเทศในครั้งนี้ จะได้รับการอบรมการผลิตข้าวที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพโดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมการข้าวและภาคีภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งกลุ่มไบเออร์จะเข้ามาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและการใช้สารอารักขาพืชอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักสูตรของกรมการข้าว พร้อมทั้งแนะนำเทคนิคการสื่อสาร เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำทักษะความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปประชาสัมพันธ์
และถ่ายทอดแก่กลุ่มเพื่อนเกษตรกรในชุมชนในฐานะทูตความปลอดภัยด้านข้าว
Mr. Ricky Ho, Head of Regulatory Science APAC, Bayer, Crop Science Division กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของโลก ซึ่งไบเออร์เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา ภายใต้รากฐาน "วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตที่ดี" อันเป็นพันธกิจที่ไบเออร์มุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุผลในภาคเกษตรกรรม โดยโครงการสร้างทูตความปลอดภัยด้านข้าวที่ดำเนินการร่วมกับกรมการข้าวในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรด้านข้าวได้รับความรู้เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืชอย่างเหมาะสม สร้างความมั่นใจในการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนในฐานะทูตความปลอดภัยด้านข้าว ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แข็งแกร่งระหว่างกรมการข้าวและไบเออร์ และมั่นใจว่าเกษตรกรด้านข้าวจะสามารถเก็บเกี่ยวสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดผ่านความร่วมมือในครั้งนี้
นายวีรพล เจริญพานิช ผู้บริหารประจำประเทศไทยและเวียดนาม แผนกครอปซายน์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไบเออร์ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาครัฐ สถาบันการศึกษา เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลจัดการพืชหลากหลายชนิดให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยเฉพาะข้าวที่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งไบเออร์ได้เข้าไปร่วมให้ความรู้ในการอบรมการเกษตรปลอดภัยภายใต้หลักสูตรของกรมการข้าว เพื่อส่งเสริมทักษะความรู้และเทคโนโลยีกับเกษตรกรรุ่นใหม่และยกระดับสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพ นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปถ่ายทอดให้แก่กลุ่มเพื่อเกษตรกรอย่างถูกหลักวิชาการ เป็นไปตามระบบมาตรฐาน GAP และปลอดภัยทั้งต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการระดมความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงานมาบูรณาการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรของไทยให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป