กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา
รพ.จิตเวชนครราชสีมา ริเริ่มพลิกโฉมหอผู้ป่วยยิ้มได้ โดยทีมพยาบาลจิตเวชได้นำกิจกรรมการฟื้นฟูจิตใจ อาทิวาดภาพระบายสี ฝึกสติ มาใช้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชหญิงรับใหม่ที่ยังอยู่ในระยะอาการทางจิตกำเริบ ซึ่งร้อยละ70 มีพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อช่วยผ่อนคลายใจ หลังทดลองใช้ 6 เดือนพบได้ผลน่าพอใจ ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษา บรรยากาศหอผู้ป่วยสงบขึ้น อัตราการจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วยที่ก้าวร้าวลดลงเหลือเพียงร้อยละ11 การฟื้นตัวฟื้นใจเร็วขึ้น เรียกรอยยิ้มความพอใจให้ทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ เดินหน้าพัฒนาต่อ
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่าขณะนี้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้เร่งพัฒนาระบบบริการให้เป็นที่พักใจของผู้ป่วยทางจิตที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ เพื่อให้หายหรือบรรเทาจากความทุกข์ทรมาน สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนก่อนป่วยโดยเร็ว ให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวดเร็ว ปรับปรุงสถานที่ให้ร่มรื่น สะอาด สวยงาม สบายตาและสบายใจทั้งผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรที่ปฏิบัติงาน อาหารมีคุณภาพปลอดภัยรสชาติอร่อย ห้องน้ำสะอาด มีกิจกรรมบันเทิงใจหลากหลายให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย เช่นกิจกรรมร้องเพลง การวาดภาพ การฝึกคลายเครียด เป็นต้น
ทางด้านนางสาวปริยา ปราณีตพลกรัง พยาบาลจิตเวชหัวหน้าหอผู้ป่วยเฟื่องฟ้า รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า หอผู้ป่วยเฟื่องฟ้า เป็นหอรับใหม่ผู้ป่วยจิตเวชหญิงที่แพทย์รับตัวไว้รักษาในรพ.เนื่องจากมีอาการทางจิตรุนแรง เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองและผู้อื่น มีขนาด 30 เตียง เพื่อดูแลรักษาอาการให้สงบทุเลาก่อนส่งเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูทางจิตสังคมจากทีมสหวิชาชีพตามมาตรฐาน มีผู้ป่วยรับใหม่เฉลี่ยวันละ 3-4 คน ร้อยละ 50 เป็นโรคจิตเภท ที่เหลือเป็นโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว ติดสุรา ผู้ป่วยที่รับใหม่ร้อยละ70 จะมาด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว แม้จะจำกัดพฤติกรรมไว้ชั่วคราวตามมาตรฐานความปลอดภัยแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังส่งเสียงร้องตะโกน ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและบรรยากาศทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมกับทีมพยาบาลจิตเวชและเจ้าหน้าที่ ริเริ่มปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เป็นหอผู้ป่วยยิ้มได้หรือเรียกว่าวอร์ด(ward)ยิ้มได้ สอดคล้องกับนโยบายของรพ. โดยใช้วิธีการดูแลแนวใหม่ ช่วยลดการจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วย และจัดกิจกรรมช่วยเสริมสร้างบรรยากาศแวดล้อมให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ลดสภาวะตึงเครียด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับวิธีการดูแลแนวใหม่นี้ การจำกัดพฤติกรรมยังมีอยู่ แต่จะใช้เฉพาะกรณีที่พยาบาลจิตเวชประเมินแล้วมีความจำเป็นเท่านั้นคือในรายมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากหรือมีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น ส่วนการจัดกิจกรรมผ่อนคลายให้ผู้ป่วย ได้ประยุกต์มาจากกิจกรรมฟื้นฟูทางจิตสังคมตามหลักการคืนสู่สุขภาวะ(recovery model) นำมาปรับและทดลองใช้กับผู้ป่วยในระยะที่อาการยังไม่สงบตามสภาพ โดยให้ผู้ป่วยทำในภาคเช้าและภาคบ่าย เช่นการฝึกสติ การออกกำลังกายประกอบจังหวะ การวาดภาพระบายสี การประดิษฐ์งานศิลปะ เช่นทำดอกไม้ การร้องเพลง เต้นรำ การพูดคุยในกลุ่มเพื่อน และการพูดคุยไถ่ถามความต้องการของผู้ป่วยด้วยความเป็นกันเองเสมือนเป็นญาติใกล้ชิด ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเสริมสร้างให้ผู้ป่วยเกิดความหวัง มีกำลังใจ เสริมสร้างคุณค่าในตนเอง มีการพัฒนาตัวตนใหม่ให้เข้มแข็ง มีความรับผิดชอบและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนรอบข้าง เอื้อต่อการฟื้นตัวฟื้นใจของผู้ป่วยได้ดีและเร็วขึ้น
นางสาวปริยา กล่าวต่อว่า ผลการทดลองใช้เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ต.ค.2561-มี.ค.2562 พบว่าได้ผลอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ผู้ป่วยร่วมมือดีขึ้น ส่งผลให้การจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วยที่ก้าวร้าวมีแนวโน้มลดลงจากช่วงก่อนทดลองคือเหลือเพียงร้อยละ 11 ระยะเวลาที่จำกัดพฤติกรรมลดลงเหลือเพียง 1-2 ชั่วโมงจากเดิมเฉลี่ย 4 ชั่วโมง การปรับตัวของผู้ป่วยดีขึ้นโดยประเมินจากจำนวนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจนมีผลกระทบกับผู้ป่วยอื่นลดลง ในเดือนต.ค.2561มีจำนวน 7 คน เหลือเพียง 3 คนในเดือนมี.ค.2562 อาการโดยรวมของผู้ป่วยสงบเร็วขึ้นภายใน 5-7 วัน สามารถย้ายไปหอฟื้นฟูจิตใจอารมณ์สังคมเร็วกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้คือ14 วัน โดยผู้ป่วยทุกคนพึงพอใจกิจกรรมที่จัดอยู่ในระดับค่อนข้างมากจนถึงระดับมาก ผู้ป่วยบอกว่า เพลิดเพลินใจ ประทับใจ บางคนบอกว่าไม่อยากย้ายไปที่ไหนอีก /2 … ส่วนในกลุ่ม..
ส่วนในกลุ่มบุคลากรในรพ.ที่เดินผ่านหอผู้ป่วยหรือไปติดต่อ ต่างรู้สึกถึงความแตกต่างของบรรยากาศหอผู้ป่วยเฟื่องฟ้าจากสภาพที่เคยคุ้นชินในอดีตคือเสียงดัง วุ่นวาย กลับมาเป็นภาพผู้ป่วยนั่งสนใจทำกิจกรรม ดูท่าทีสงบอย่างน่าประหลาดใจ ส่วนกลุ่มญาติก็รู้สึกพอใจที่ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีและพุดคุยกันรู้เรื่องขึ้น โดยได้นำผลงานนี้เผยแพร่ในงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติของกรมสุขภาพจิตประจำปี2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย
อย่างไรก็ดี การดูแลและเริ่มกระบวนการฟื้นฟูผู้ป่วยรับใหม่ตั้งแต่ในระยะอาการกำเริบ ยังนับว่าเป็นนวตกรรมในช่วงการเริ่มต้นบุกเบิก ที่เห็นทิศทางอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องดำเนินการศึกษาวิจัยในรายละเอียดด้านอื่นๆต่อไปอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของผู้ป่วยจิตเวชในมุมมองของผู้ให้การพยาบาล เพื่อเป็นแนวทางจัดกิจกรรมให้เหมาะสมและขยายผลไปใช้กับหอผู้ป่วยรับใหม่อื่น รวมทั้งการเพิ่มทักษะ ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญให้พยาบาลวิชาชีพจบใหม่เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชต่อไป นางสาวปริยากล่าว