กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยจะเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 เนื่องจากการแข็งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ได้เริ่มยกเลิกการเสนอแพ็กเกจเติมเงินแบบใช้งานข้อมูลได้ไม่จำกัดด้วยความเร็วคงที่ (Fixed-Speed Unlimited Data Plans) ซึ่งเริ่มมีการให้บริการในปี 2561 อย่างไรก็ตามกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของอุตสาหกรรมในปี 2562 น่าจะยังคงอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน เนื่องจากฟิทช์คาดว่ารายได้ที่เติบโตจะถูกลดทอนลงโดยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงข่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น
ฟิทช์คาดว่า รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) น่าจะเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 จากการที่บริษัทย้ายลูกค้าที่ใช้แพ็กเกจแบบใช้งานข้อมูลได้ไม่จำกัดด้วยความเร็วคงที่ ไปยังแพ็กเกจที่มีราคาสูงขึ้น ฟิทช์คาดว่า AIS มีลูกค้าจำนวนมากที่ยังคงใช้แพ็กเกจดังกล่าวอยู่ ซึ่งจะทยอยหมดอายุลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ AIS เติบโตร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และอยู่ในระดับที่สูงกว่าการเติบโตในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.2
ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในปี 2562 จะยังคงปรับตัวลดลง แต่ในอัตราช้าลง ที่ร้อยละ 1 ถึง 2 เมื่อเทียบกับการปรับตัวลดลงร้อยละ 5.8 ในปี 2562 การแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้น การได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ และการลงทุนก่อสร้างโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยปรับปรุงการให้บริการ และเพิ่มความครอบคลุมของโครงข่าย และช่วยให้การเติบโตของรายได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ดีขึ้น ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 รายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเทียบกับการลดลงร้อยละ 7.1 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562
ฟิทช์คาดว่ากำไรของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยจะยังคงถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง EBITDA ของ DTAC น่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 10 ถึง 11 มาอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 จาก 2.8 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 กำไรของ DTAC ยังได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สำหรับการเช่าใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำหรับการให้คลื่นความถี่ 2.3 GHz ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 สัดส่วนของค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายต่อรายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 25.9 จากร้อยละ 18.4 ในปี 2561 โดยฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ DTAC จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 34 ถึง 35 ในปี 2562 จากร้อยละ 37.8 ในปี 2561 (ครึ่งปีแรกของปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 35)
AIS น่าจะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้แสดงให้เห็นว่ามีความผันผวนที่ต่ำกว่า และมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงกว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ AIS ในปี 2562 น่าจะอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2561 ที่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้น อาจถูกลดทอนจากค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายของ AIS ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าการเติบโตของรายได้จากการให้บริการที่เติบร้อยละ 6.1 ในขณะที่ EBITDA Margin ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 42.7 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 จากร้อยละ 43.5 ในปี 2561