กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
หากย้อนกลับไปค้นหาความทรงจำในวัยเด็กตอนกำลังฝึกทักษะการขีดๆ เขียนๆ เชื่อแน่ว่าหลายคนต้องมองเห็นภาพตัวเองกำลังจับดินสอหรือสีเทียนขึ้นมาวาดภาพลงบนแผ่นกระดาษตามจินตนาการของแต่ละคน มาวันนี้การวาดภาพแบบเด็กๆ ได้รับการต่อยอดและออกแบบให้มีความลึกซึ้งขึ้นจนกลายเป็นกระบวนการคิดเป็นภาพ หรือที่เรียกว่า Visual Thinking นั่นหมายความว่า การวาดภาพที่สื่อถึงความนึกคิดคือทักษะตามธรรมชาติที่ติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็สามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้จัดระเบียบความคิด ช่วยให้มองเห็นความเชื่อมโยงในสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น และเพิ่มพูนทักษะการสื่อสารได้อีกด้วย
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เห็นว่ากระบวนการคิดเป็นภาพนี้จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน 6 แห่ง ในจังหวัดลำพูน ลำปาง และพะเยา ภายใต้ "โครงการสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" (Banpu Education for Sustainability หรือ BES) การออกเดินทางสู่ภาคเหนือในครั้งนี้ บ้านปูฯ จึงร่วมมือกับทีมวิทยากรกระบวนการมืออาชีพด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ "คิด เห็น เป็นภาพ" หรือ Visual Thinking Workshop ที่ไม่ซับซ้อนและไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพราะใช้เพียงกระดาษกับปากกาที่หาได้ทั่วไป ให้กับทั้งครูและนักเรียนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
ห้องเรียน "คิด เห็น เป็นภาพ"
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการคิดเป็นภาพจะได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อทั้งผู้สอนและผู้เรียนมีความเข้าใจที่ตรงกัน กิจกรรมนี้จึงเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแบบคู่ขนานของครูและนักเรียน โดยแบ่งออกเป็นห้องครูและห้องนักเรียนในช่วงต้น เพื่อรื้อฟื้นทักษะการวาดภาพที่ห่างหายไป เริ่มด้วย Visual Energizer ที่ช่วยสร้างความคุ้นเคยแก่ครูและนักเรียนด้วยการวาดภาพใบหน้าเพื่อน จากนั้นเข้าสู่ช่วง Visual Vocabulary กับการสร้างคลังคำศัพท์ภาพที่ทุกคนจะได้ผลัดกันวาดภาพคน สัตว์ สิ่งของ ความรู้สึก และอากัปกิริยา ตามที่แต่ละคนกำหนดไว้ล่วงหน้า แล้วจึงฝึกการใช้ภาพจดบันทึก หรือ Visual Note-taking ซึ่งมาพร้อมเคล็ดลับการใช้ภาพรูปแบบต่างๆ เช่น แผนภูมิ ตาราง และเส้นบอกเวลา เพื่อเปลี่ยนเนื้อหาซับซ้อนเป็นภาพที่เข้าใจได้ง่าย ทางด้านครูยังได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ภาพอธิบายเนื้อหาเพื่อให้การเรียนการสอนสนุกขึ้น ก่อนที่ในช่วงท้าย ครูจะได้ทดลองถ่ายทอดความรู้ในบทเรียนโดยใช้ภาพเป็นสื่อ เช่นเดียวกับนักเรียนที่จะเรียนรู้ จดจำ และจดบันทึกด้วยภาพ ดังนั้น "ภาพ" จึงกลายเป็นเครื่องมือหลักในการถ่ายทอดความรู้และเรียนรู้ ทั้งยังเป็นตัวช่วยให้ครูกับนักเรียนเข้าใจและเห็นภาพที่ตรงกัน
นายณัฏฐนนท์ อินต๊ะแสน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเชียงม่วนวิทยาคม จ.พะเยา กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมห้องเรียน "คิด เห็น เป็นภาพ" ว่า "รู้สึกตื่นเต้นและชอบกิจกรรมครั้งนี้มากๆ เพราะไม่เคยคิดว่าการวาดรูปจะนำมาใช้ประโยชน์ในการเรียนได้ ตอนแรกที่เริ่มทำกิจกรรมรู้สึกกังวลเพราะวาดรูปไม่เก่ง แต่พี่ที่มาสอนก็คอยบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องวาดให้สวยงามและสมบูรณ์แบบ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวาดรูปให้ตนเองเข้าใจและอ่านเนื้อหาที่ตนเองจดได้รู้เรื่อง แทนที่จะจดบันทึกคำศัพท์หรือเนื้อหาจากบทเรียนเป็นตัวหนังสือ ก็ได้คิดและถอดออกมาเป็นภาพโดยใช้ลายเส้นและรูปทรงง่ายๆ ช่วยให้จดจำเนื้อหาและเก็บรายละเอียดได้มากขึ้น ท่องจำบทเรียนสนุกขึ้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นประโยชน์มากต่อการจดสิ่งที่ครูสอนและการทบทวนบทเรียนก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย"
ด้านอาจารย์คงฤทธิ์ กสิชีวิน หัวหน้ากลุ่มสาระภาษาอังกฤษ โรงเรียนสบปราบพิทยาคม จ.ลำปาง ยอมรับว่า การสอนโดยใช้กระบวนการคิดเป็นภาพถือเป็นประสบการณ์ใหม่ แต่ก็เห็นถึงประโยชน์ต่อการเรียนการสอน "ครูจะนำเทคนิคความรู้เหล่านี้มาใช้ในห้องเรียนอย่างแน่นอน เพราะน่าจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้บทเรียนวิชาภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องคำศัพท์ นักเรียนจะจดจำได้ง่ายขึ้น สรุปเนื้อหาเป็นขั้นตอนด้วยภาพแทนตัวอักษร และนำไปใช้ทบทวนหรือเชื่อมโยงบทเรียนใหม่ได้ และช่วยสร้างความเข้าใจที่ตรงกันขณะทำกิจกรรมกลุ่มและกิจกรรมคู่ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนแบบ Active Learning"
กระบวนการคิดเป็นภาพไม่เพียงช่วยให้เด็กสามารถคิด จำ และสื่อสารกับเพื่อนและคุณครูได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำหรับครูที่ในการปลูกฝังกระบวนการคิด ที่ส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกฝนการใช้สมองทั้ง 2 ซีกไปพร้อมกัน และช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ทำให้นักเรียนสนใจและสนุกกับการเรียนมากขึ้น เพราะเทคนิคสำคัญของกระบวนการคิดเป็นภาพ คือ Fun, Fast and Flow หรือ สนุก เร็ว และลื่นไหล เน้นขีดเขียนและวาดออกมาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งผู้สอนและผู้เรียนจะต้องรู้สึกสนุก ไม่รู้สึกว่ากำลังถูกบังคับ และหากเนื้อหาวิชาใดไม่สามารถใช้การวาดภาพเป็นเครื่องมือได้ ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้กระบวนการเรียนรู้วิธีอื่น แล้วหยิบเอาแนวคิดนี้มาใช้อีกครั้งในเวลาที่เห็นสมควร
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส–สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้ายว่า "บ้านปูฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของครูควบคู่กับการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ "คิด เห็น เป็นภาพ" จึงเป็นเสมือนการส่งมอบเครื่องมือรูปแบบใหม่เพื่อให้ครูนำไปใช้จัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจขึ้น ขณะที่นักเรียนก็จะได้พัฒนาทักษะการจัดลำดับความคิดของตนให้เป็นระบบและมีตัวช่วยในการจดบทเรียนวิชาต่างๆ ให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น การนำกระบวนการคิดเป็นภาพไปถ่ายทอดให้กับครูและนักเรียนในโรงเรียนอุปถัมภ์เป็นครั้งแรกนี้ บ้านปูฯ ได้เห็นถึงความกระตือรือร้นและความสนใจที่ครูและนักเรียนมีต่อกิจกรรม และหวังว่าหลักการ "คิด เห็น เป็นภาพ" จะช่วยพัฒนาศักยภาพการสอนของครูและการเรียนรู้ของนักเรียนได้มากขึ้น สอดคล้องกับความเชื่อของบ้านปูฯ ที่ว่า พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา"