กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--สำนักงาน กปร.
โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสบขุ่น อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยในทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้น เพื่อให้คำแนะนำส่งเสริมการทำเกษตรที่ถูกหลักวิชาการ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อลดการบุกรุกทำลายป่า โดยให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศและเรียนรู้การทำการเกษตรที่ถูกต้อง
จากการดำเนินงานโครงการฯ ราษฎรได้ร่วมกันฟื้นฟูดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธารได้ จำนวน 10,500 ไร่ มีการปลูกป่าทดแทนจำนวน 6,400 ไร่ พื้นที่ป่าธรรมชาติ 4,100 ไร่ และยังร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น ทำให้ราษฎร
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยนำความรู้ที่ได้รับจากโครงการฯ มาประยุกต์ใช้ เช่น การปลูกผัก การเลี้ยงสัตว์ เพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้สามารถพึ่งพาตนเองได้
ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานและเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการฯ พร้อมซักถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และรับทราบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไขสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
การนี้ องคมนตรี ได้กล่าวกับราษฎรโดยเน้นย้ำเรื่องการทำนาว่า "อย่าทิ้ง" พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเตือนไว้แล้วว่าคนไทยต้องรับประทานข้าว
"เราต้องทำนาเพื่อปลูกข้าวไว้รับประทานด้วย อย่าไปเห็นว่าพืชเชิงเดี่ยวบางตัวมีราคาดีตลาดดีในบางช่วงบางขณะ
แล้วปลูกกัน อย่างเรื่องของยางพารา ภาคเหนือ ภาคอีสานก็ปลูกกันเยอะ เมื่อเจอภาวะราคาตลาดโลกตกต่ำก็ลำบากกันถ้วนหน้า แต่ถ้าไม่ทิ้งการทำนา ไม่เอาที่นาไปปลูกพืชอย่างอื่น ทุกคนก็จะมีข้าวกินทั้งปีไม่ต้องซื้อ" องคมนตรีกล่าว
ทางด้านนายสมบูรณ์ นามวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านสบขุ่น อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2547 เมื่อโครงการฯ เกิดขึ้น ประโยชน์แรกที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับก็คือ "น้ำ" เนื่องจากมีการทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ หลายแห่งจึงมีน้ำใช้ทั้งปี
ที่สำคัญชาวบ้านได้เข้าใจว่าถ้าป่าไม้สมบูรณ์พื้นที่ก็จะไม่แห้งแล้ง ทุกคนจึงร่วมกันรักษาป่า ไม่ทำลาย ไม่บุกรุก ไม่แพ้วถาง และร่วมกันทำฝายชะลอความชุ่มชื้นเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
"ทางโครงการฯ ได้สอนให้ทำนาแบบขั้นบันไดเพื่อให้ทุกครอบครัวมีข้าวกินตลอดทั้งปี และไม่ต้องบุกรุกป่า เพราะสามารถทำในพื้นที่เดิมได้พร้อมสอนให้เลี้ยงปลาทั้งในนาข้าวและแบบขุดบ่อเลี้ยง แนะนำให้เลี้ยงหมู โดยทางโครงการฯ สนับสนุนพ่อแม่พันธุ์มาให้เพื่อขยายพันธุ์ เมื่อมีมากก็แจกจ่ายกันเลี้ยงภายในชุมชน ตอนนี้มีเลี้ยงแทบทุกครัวเรือน นับว่าโชคดีมาก
ที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงแห่งนี้ขึ้นมา" นายสมบูรณ์ นามวงศ์ กล่าว
ส่วนนางอ้อย จันทรธิมา ราษฎรบ้านสบขุ่น หนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ด้วยการเข้ามาทำงานภายในโครงการฯ กล่าวว่า การเข้ามาทำงานภายในโครงการฯ นอกจากจะมีรายได้ในแต่ละเดือนที่แน่นอนแล้ว ยังได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงวิธีทำการเพาะปลูกพืชที่ถูกหลักวิชาการอย่างหลากหลาย สามารถนำไปต่อยอดในพื้นที่ของตนเองได้ อย่างเช่น การปลูกไม้ยืนต้นประเภทไม้เศรษฐกิจเพื่อให้ป่ามีความชุ่มชื้น เก็บน้ำไว้ตามธรรมชาติ ใต้ต้นไม้ยืนต้นก็ปลูกกาแฟซึ่งเจริญเติบโตดีเพราะมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา รอบต้นกาแฟปลูกพืชผัก เพราะดินบริเวณนั้นดีและมีร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่และต้นกาแฟ
"รายได้ในตอนนี้นอกจากเงินเดือนที่ได้จากโครงการฯ แล้ว ก็มีรายได้เสริมเป็นรายอาทิตย์จากการนำพริก ขิงและข่า
ที่ปลูกไปขาย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ขัดสน เมื่อก่อนเพาะปลูกพืชอาศัยธรรมชาติและประสบการณ์เดิม ๆ เป็นหลัก แต่เมื่อมีโครงการฯ เกิดขึ้น ก็ได้เรียนรู้เรื่องการผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้บำรุงต้นไม้ที่ปลูกแทนการใช้สารเคมี ปลูกพืชแบบผสมผสานแทนปลูกแบบเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และรู้ว่าปลูกอะไรถึงจะดีที่สุดสำหรับพื้นที่แบบนี้ ที่สำคัญคือได้รู้ว่าปลูกพืชอะไรแล้วขายได้โดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายป่าต้นน้ำ ชาวบ้านทุกคนในชุมชนตอนนี้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ก็ต้องกราบขอบพระคุณพระองค์ท่านที่ทรงมีพระราชดำริให้มีการจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริแห่งนี้ขึ้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น มีความสุขอย่างพอเพียง มีความมั่นคงไม่อดอยากและขัดสนเหมือนแต่ก่อน" นางอ้อย จันทรธิมา กล่าว