กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กทม.
กทม. จับมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน 43 หน่วยงาน จัดกิจกรรม Earth Hour พร้อมกับเมืองใหญ่ทั่วโลกปิดไฟ ลดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในวันที่ 29 มี.ค. 51 ระหว่างเวลา 20.00-21.00 น. ณ เซ็นทรัลเวริล์ด และ 6 ถนนสายหลัก ประกอบด้วย ถ.สีลม เยาวราช รัชดาภิเษก ข้าวสาร ราชดำริ และ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ คาดสามารถลดการใช้พลังงาน 20-30%
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน 43 แห่ง อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห้างสรรพสินค้า สมาคมโรงแรมไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เจ้าของอาคารสูง บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ และกระทรวงพลังงาน เป็นต้น เพื่อเตรียมการจัดกิจกรรม Earth Hour ปิดไฟลดการใช้พลังงาน ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 50 โดยจะมีการกิจกรรมอีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค. 51 มีเมืองใหญ่ทั่วโลกกว่า 20 เมือง อาทิ โคเปนเฮเกน โตรอนโต ชิคาโก เมลเบิลร์น บริสเบน มะนิลา เซียงไฮ้ เป็นต้น เข้าร่วมกิจกรรม
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่กรุงเทพมหานครจัดกิจกรรมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน โดยมีการรณรงค์ให้ปิดไฟทั่วกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 15 นาที เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 50 ซึ่งค่อนข้างได้ผลดี และเพื่อให้การดำเนินการได้ผลดีเป็นไปอย่างต่อเนื่องประชาชนตระหนักและให้ความร่วมมือในการลดการใช้พลังงานในส่วนที่ไม่จำเป็น กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับ World Wildlife Fund (WWF) และหน่วยงานภาครัฐ เอกชน จัดกิจกรรม Earth Hour ปิดไฟลดการใช้พลังงานเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในวันที่ 29 มี.ค. 51 ระหว่างเวลา 20.00-21.00 น. ณ เซ็นทรัลเวริล์ด และถนนสายหลัก ประกอบด้วย ถ.สีลม เยาวราช รัชดาภิเษก ข้าวสาร ราชดำริ และ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ โดยขอความร่วมมือในการดับไฟดวงที่ไม่จำเป็นในอาคารที่อยู่ด้านข้าง ไม่รวมถึงไฟถนนซึ่งจะไม่กระทบต่อการจราจร
ทั้งนี้การไฟฟ้านครหลวงได้ประมาณการการใช้ไฟฟ้าในวันเสาร์ช่วงเวลา 20.00-21.00 น. ในพื้นที่กรุงเทพฯ จากกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าแบ่งเป็น 6 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารบ้านพัก กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ สถานที่ราชการ และไฟสถานที่สาธารณะ มีสถิติการใช้ไฟฟ้าประมาณ 5 ล้านกิโลวัติ ซึ่งในวันที่จะมีการจัดกิจกรรมคาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 20-30% คือ ประมาณ 1 ล้านกิโลวัติ