กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
SACICT มุ่งมั่นเชิดชูต่อยอดภูมิปัญญาครูช่างไทย และพัฒนาการเชื่อมโยงงานศิลปะหัตถกรรมไทยแบบบูรณการสู่ตลาดโลกยุคดิจิทัล โดยเปิดตัว "SACICT Archive" แหล่งรวบรวมค้นคว้าองค์ความรู้ด้านศิลปะหัตถกรรมไทย ต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทยก้าวสู่เทรนด์ตลาดโลกรุ่นใหม่หันมาใส่ใจผลงาน Art & Crafts มากขึ้นในชีวิตประจำวัน พร้อมมั่นใจหัตถศิลป์ไทยมีความพร้อมและได้เปรียบนานาชาติ
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT กล่าวว่า "SACICT มุ่งมั่นที่จะสืบสานงานศิลปะหัตถกรรมไทยอย่างบูรณาการรอบด้าน โดยขณะนี้มี "SACICT Archive" ระบบสืบค้นข้อมูลซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ของงานศิลปะหัตถกรรมไทยที่สมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งนี้เพื่อยกระดับเชิดชูบทบาทการสร้างสรรค์ผลงานของครูศิลป์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ตลอดจนทายาทครูช่างศิลปหัตถกรรม เป็นการวางรากฐานสำคัญเพื่อไม่ให้ผลงานหัตถศิลป์ไทยต้องสูญหายไปตามกาลเวลา โดย SACICT มองว่าแนวโน้มเทรนด์ตลาดโลกหลังจากมีการวิเคราะห์วิจัยมาแล้ว พบว่าขณะนี้ผู้คนกำลังมองหารากเหง้าของภูมิปัญญา จิตวิญญานและปรัชญาการทำงาน โดยในปีหน้านี้แนวโน้มของคำว่ารากเหง้า หรือความนิยมในผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากภูมิปัญญาจะกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น SACICT Archive ก็จะมีบทบาทเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่สำคัญ ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจศิลปหัตถกรรมได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาที่ค้นคว้าวิจัยศึกษา ผู้ผลิตชาวบ้านชุมชน ผู้บริโภคที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ นักลงทุนและผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ยังมั่นใจว่าการสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปหัตถกรรมของประเทศไทยมีความโดดเด่น และ ได้เปรียบกว่าทุกชาติโดยมีจุดแข็ง 3 ปัจจัยได้แก่ 1. ความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ราบสูงเช่นกะเหรี่ยง ม้ง เย้า หรือพื้นที่ราบลุ่ม เช่นไทดำ ไทยญวน ไทยลื้อ ซึ่งมีชนพื้นเมืองต่างๆ เดินทางเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในราชอาณาจักรไทย และได้วางรากฐานปรับปรุงเปลี่ยนแปลงผลงานหัตถกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมมาช้านาน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์นั้นๆ 2. ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่หลากหลายตามสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำมาประดิษฐ์ชิ้นงานได้มากมาย 3. ทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยล้วน ให้การสนับสนุน ส่งเสริมผลงานศิลปหัตถกรรมไทยทั้งสิ้น เช่นการทำงานในส่วนของ SACICT สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชิชีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงวางรากฐานการทำงานไว้อย่างชัดเจน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาฝืมือเชิงช่าง เน้นศิลปะหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญาเท่านั้น ขณะเดียวกันผลักดันให้เกิดนวัตกรรมที่จะต้องอยู่บนรากฐานภูมิปัญญา ซึ่งก็คือความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นอัตลักษณ์ สัมผัสได้ถึงความเป็นไทย แตกต่างไม่ซ้ำใครและใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เหล่านี้คือ Creative Economy ซึ่งมีเฉพาะประเทศที่เป็นเจ้าของภูมิปํญญาเท่านั้นที่ทำได้ โดยไม่สามารถลอกเลียนกันได้
ในอนาคต SACICT วางเป้าหมายผลักดันศิลปะหัตถกรรมให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบครบวงจร เพื่อให้งานฝีมือจากภูมิปัญญาของครูช่างและทายาทเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตผลงานกับผู้สนใจ คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า กระตุ้นให้เกิดการตระหนักเรื่องขององค์ความรู้ เกิดการช่วยเหลือสนับสนุน หรือเข้ามาสืบสานกันมากขึ้น สร้างการรับรู้ของสังคมถึงการมีตัวตนอยู่ของครูช่างฝีมือไทย เห็นรายละเอียดกระบวนการผลิต ทักษะฝีมือ ความรัก ความเอาใจใส่ ปรัชญา การทำงาน การสร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ประจักษ์ เมื่อนั้นงานศิลปะหัตถกรรมไทยก็จะได้รับการพัฒนาต่อยอด ให้เติบโตยั่งยืนไม่สูญหายเมื่อมีผู้สืบสานต่อไป