กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ในการจัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 13 ประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อ "มุ่งสู่ยุคใหม่การแพทย์ฉุกเฉินไทย" (Conference Program of National EMS Forum 2019 : Next Generation) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้มีการจัดเสวนาพิเศษให้ข้อ "ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในอนาคตสำหรับภาคีเครือข่าย" โดยมีตัวแทนภาคีเครือข่ายท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา
นายบุญเสริม ศุภศรี ตัวแทนจากมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวว่า เรามีโอกาสไปศึกษาซ้อมแผนกู้ชีพฉุกเฉิน ยังต่างประเทศเช่นกัน ต่างประเทศเขาไม่เข้าใจว่ามีมูลนิธิมาทำตรงนี้ด้วยหรือ เราถือเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้ไม่มีทักษะเกี่ยวกับการกู้ชีพฉุกเฉิน เมื่อมีสพฉ.มาให้ความรู้ เราได้พัฒนาตรงนี้เป็นอย่างมาก จนพัฒนาให้มีศูนย์ฝึกอบรมในที่สุด จากผลตรงนี้ เราได้ส่งบุคลากร ไปสอนเรื่องการช่วยชีวิตฉุกเฉินยังต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศลาว จนขณะนี้ การช่วยชีวิตฉุกเฉินที่ประเทศลาวมีการพัฒนาเติบโตมากขึ้นเป็นอย่างมาก ส่วนการประสานงานต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องภัยพิบัติ เรามีมูลนิธิ ทำงานแบบภาพใหญ่ ยกตัวอย่างกรณี ขุนน้ำนางนอน 13 หมูป่า เห็นชัดเจนว่าคนของมูลนิธิ มักถูกใช้ให้เข้าป่า ขุดหิน ขุดดิน เป็นต้น ขอยืนยันว่า สมัยนี้ บุคลากร เรามีความรู้ และทำได้ อยากให้ภาครัฐโดยเฉพาะสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หันมาดูและยอมรับดำเนินการให้มีมาตรฐาน ว่า บุคลากรของมูลนิธิ ก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน
นายสุชีพ บุญเส็ง ตัวแทนจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าวว่า การพัฒนาของมูลนิธิฯ เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินมีอย่างหลากหลาย มีการประสานซ้อมแผนกับทหารด้วย ทั้งทางน้ำ ทางบก และอากาศ พร้อมกันนี้ทางเรามีศูนย์ฝึก กู้ชีพที่ทางสพฉ.รับรอง โดยเฉพาะ มีการอบรมการใช้ เครื่อง เออีดี อย่างถูกวิธีด้วย ส่วนการประสานงานเรื่องภัยพิบัติ สมัยที่มีน้ำท่วมใหญ่กทม.เราได้มีการตั้งจุดช่วยเหลือ ตามจุดต่างๆ โดยมีจุดศูนย์กลางที่ดอนเมือง ที่ประสานโดยตรงกับสพฉ.เป็นศูนย์กลางอีกที ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างมาก
นายชาญชัย ศุภวีระกุล ตัวแทนจากมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา กล่าวว่า ต่างจังหวัด คนที่จะเข้าไปเรียนการกู้ชีพเยอะมาก แต่คนที่ได้รับโอกาสมีน้อย ที่ผ่านมาตนได้แต่เดินสายอบรม จนในที่สุดจึงได้รับโอกาส ล่าสุดไปอบรมการช่วยเหลือคนจมน้ำในต่างประเทศ เขาถามว่าสิ่งที่เราทำนี่ได้เงินไหม ทั้งที่อาสาสมัครเขาได้เงิน เขาก็มาจับมือว่าเราทำด้วยใจ อยากให้สพฉ.พัฒนาหลักสูตร ถามว่าที่ผ่านมา 10 ปี เปลี่ยนปรับปรุงหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตรการช่วยเหลือคนจมน้ำ ก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ส่วนการประสานงาน การเกิดภัยพิบัติ อย่างกรณี ขุนน้ำนางนอน ต้องยอมรับว่า เราทำอะไรมากไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะ ทหารที่ทำหน้าที่หลักตรงนั้น ตรงนี้เราเป็นเพียงตัวช่วยขนอุปกรณ์ กู้ภัยชาวต่างชาติเท่านั้น เนื่องจากเราไม่มีความรู้ โดยเฉพาะ การดำน้ำในถ้ำ นั่นเอง เราไม่เคยศึกษาตรงนี้เลย นี่คือบทเรียน
นายปกครอง ทองเนื้อแข็ง ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า งานในพื้นที่ป่าเขา ทะเล หากมีนักท่องเที่ยวเจ็บป่วย จะทำการช่วยเหลือตรงนี้อย่างไร จากช่องว่างตรงนี้ ทางกรมอุทยานฯ จึงเข้าไปมีส่วนร่วม โดยมีสพฉ.คอยประสานและให้ความรู้ ที่แรก คือ เขาใหญ่ หลังมีผู้ป่วยอยู่ที่ผากล้วยไม้ ซึ่งการขับรถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลถือเป็นเรื่องที่สำคัญ จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อมีที่ไหนมีการฝึกอบรม เราก็จะส่งคนไปตลอด พร้อมทั้งการสร้างเครือข่ายไปในตัว นอกจากนี้ยัง มีกรณี นักวิจัยนกเงือกถูกกระทิงขวิดบาดเจ็บ เราประสานด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ จนสามารถช่วยชีวิตนักวิจัยคนนี้ได้ ที่ผ่านมาเรามีห้องพยาบาล อุปกรณ์ปฐมพยาบาล และบังคับให้อุทยานทุกแห่งต้องมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เรื่องความปลอดภัย การช่วยเหลือ นักท่องเที่ยวมั่นใจได้ ไม่เท่านั้น ในถิ่นทุรกันดาน คนชายขอบ ทางเราก็มีการช่วยเหลือ ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลด้วย ทั้งนี้ เรามีสายด่วน 1362 หรือ โทรแจ้งมาที่ 1669 ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะมีการประงานกันอยู่ตลอด