กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (อินเดีย) จำกัด พร้อมดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาประมง IFFO RS Improver Program (IFFO RS IP) เพื่อปรับปรุงการจัดหาวัตถุดิบปลาป่นอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ภายในปี 2562 นับเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของอินเดียที่ริเริ่มดำเนินการผลิตและจัดหาปลาป่นตามาตรฐานสากลความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน
น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ อินเดีย มีเป้าหมายการเข้าโครงการพัฒนาประมงภายใต้ IFFO RS IP ภายในปี 2562 ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าต่อเนื่องสู่การจัดทำแผนบริหารจัดการประมงตามมาตรฐานองค์กรปลาป่นและน้ำมันปลาสากล (IFFO RS Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต
"บริษัทฯ มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจสัตว์น้ำชัดเจนทั้งในประเทศไทยและธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการประมงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างเหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมาย" น.สพ.สุจินต์ ย้ำ
นายพิชัยยุทธ์ เตชะพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านควบคุมและประกันคุณภาพ ซีพีเอฟ (อินเดีย) ไพรเวท จำกัด กล่าวว่า การเข้าสู่โครงการ IFFO RS IP นับเป็นการเริ่มต้นในการบริหารจัดการ ปรับปรุง และทบทวนระบบการจัดซื้อ-จัดหาวัตถุดิบปลาป่นที่มาจากผลพลอยได้จากโรงงานแปรรูป (by-product) ถูกต้องตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการรักษาสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการจับปลาด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมในเอเซียซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีปลาหลายพันธุ์ เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบปลาป่นไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลาบางชนิด
"การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ IFFO RS IP เป็นจุดเริ่มต้นของ ซีพีเอฟ อินเดีย ในการพัฒนาการจัดซื้อ-จัดหา ไปสู่การรับรองมาตรฐาน IFFO RS ในอนาคต เพื่อยืนยันวัตถุดิบปลาป่นมาจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย มีการรายงาน และมีการควบคุมที่ดี (Non-IUU) ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่กฎหมายรองรับ" นายพิชัยยุทธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ อินเดีย ยังให้การสนับสนุนรัฐบาลและอุตสาหกรรมน้ำมันปลาและปลาซาดีนของประเทศอินเดีย ผ่าน Omega Fishmeal and Oil Private Limited ในการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการประมงเพื่อความยั่งยืนของอินเดีย (Fishery Improvement Project Action Plan) เพื่อนำเสนอต่อ IFFO ในการเดินหน้าโครงการ
ปัจจุบัน ปลาป่นที่จัดหาในประเทศไทยได้รับการรับรองมาตรฐาน IFFO RS แล้ว 100% ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้ธุรกิจสัตว์น้ำของบริษัทในประเทศเวียดนามเข้าสู่โครงการ IFFO RS IP และมีเป้าหมายปลาป่นที่ใช้ในเวียดนาม 100 % จะผ่านการรับรองมาตรฐาน IFFO RS ภายในปี 2565 และยังมีแผนขยายการดำเนินงานไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย./