กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์บริการประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และ สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งจัดนิทรรศการภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2562 ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2562 ณ หอประชุมอนุสรณ์ 70 ปี อาคารจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ (อาคาร 24) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จ.นครราชสีมา
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ให้ความสำคัญการร่วมสร้างสรรค์ จุดประกายความคิด พัฒนาซีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2562 ณ มรภ. นครราชสีมา โดยได้แนะนำการให้บริการของศูนย์วิทยาศาสตร์บริการประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และแนะนำการเข้าถึงแหล่งสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสำนักหอสมุดฯ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในการเรียนการศึกษาหรือการค้นคว้าระดับสูงต่อไป
ขอเชิญชวนให้นิสิต นักศึกษา เด็กและเยาวชน ได้แวะเข้ามาเยี่ยมชมบูธของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ณ มรภ. นครราชสีมา ชึ่งนอกจากจะมีสาระความรู้วิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีตัวอย่างของ เวอร์เนียพลาสติก ที่เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดขนาดที่ได้รับความนิยมมากในหลากหลายอุตสาหกรรม และเป็นเครื่องมือวัดที่วัดขนาดได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวัดขนาดภายนอกวัตถุ ภายในวัตถุที่ให้ค่าจากการวัดที่มีความละเอียดเป็นหน่วยมิลมิเมตร (มม.) ที่จะได้รู้จักตัวอย่างอุปกรณ์อย่างง่ายที่ใช้ในเทคนิคการวิเคราะห์ทดสอบทางงานวิทยาศาสตร์ มุ่งหวังกระตุ้นการคิดแบบวิทยาศาสตร์และได้รับของที่ระลึก เวอร์เนีย จากกรมวิทยาศาสตร์กลับบ้านด้วย งานจัดตั้งแต่วันที่ 18ไปจนถึง 20 สิงหาคม 2562 นี้
รู้จักเวอร์เนีย
#เวอร์เนีย *เวอร์เนียเป็นอุปกรณ์วัดขนาดได้หลายรูปแบบ และมีสเกล (Scale) วัดที่ค่อนข้างละเอียด โดยในปัจจุบันมีให้เลือกใช้ทั้งแบบดิจิทัลที่แสดงค่าจากการวัดออกมาได้โดยที่ไม่ต้องคำนวณค่าและแบบอนาล็อก
เวอร์เนียเป็นชื่อเรียกสั้นๆ ของเวอร์เนียคาลิปเปอร์ (Vernier Caliper) ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดพื้นฐานใช้ในการวัดระยะห่างของด้านที่อยู่ตรงข้ามกัน วัดได้ทั้งวัตถุที่เป็นทรงกระบอกและทรงตรง โดยหาค่าได้ทั้ง ความหนาบาง ความลึก ความกว้างภายนอก และยังสามารถใช้วัดขนาดความกว้างภายในของวัตถุเพื่อหาความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางได้อีกด้วย
การวัดค่าของเวอร์เนียทำให้ได้ค่าที่ละเอียดออกมาเป็นมิลลิเมตร (มม.) โดยค่าที่เหมาะสมในการวัดมีขนาดตั้งแต่ 0.50 มม. ซึ่งด้วยการที่เวอร์เนียสามารถวัดค่าออกมาเป็นมิลลิเมตรได้ทศนิยมถึง 2 ตำแหน่ง ทำให้ค่าความคลาดเคลื่อนจากการวัดโดยเวอร์เนียมีค่าเพียง 0.05 มม. เท่านั้น
หน้าตาของเวอร์เนียคาลิปเปอร์จะคล้ายไม้บรรทัดวัดขนาดทั่วไป แต่จะมีความแตกต่างที่หัววัดซึ่งสามารถปรับเลื่อนได้ตามขนาดของวัตถุทั้งด้านในและด้านนอก ซึ่งค่าที่อ่านได้จะปรากฏบนสเกลแบบอิมพีเรียล (นิ้ว) และแบบเมตริก (มิลลิเมตร)