กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ผ่านไปเรียบร้อยแล้วสำหรับการแข่งขันภาษาจีนเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 16 (นานาชาติ) จัดโดยมูลนิธิร่มฉัตร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติจีนเข้าสอบเพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี
สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ประธานมูลนิธิร่มฉัตร และประธานคณะกรรมการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล กล่าวว่า มูลนิธิร่มฉัตรจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนส่งเสริมในด้านการศึกษาแก่เยาวชนไทยทุกสังกัดทั่วประเทศ โครงการเพชรยอดมงกุฎเป็นโครงการหนึ่งที่มูลนิธิร่มฉัตรสนับสนุนทุนการศึกษาและงบประมาณดำเนินงานตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เป็นโครงการที่โรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ ครู นักเรียน รู้จักและกล่าวขานถึงทุกปี
โครงการเพชรยอดมงกุฎจัดการแข่งขันต่อเนื่องทุกปี และมีความก้าวหน้ามาตามลำดับ ปัจจุบันโครงการเพชรยอดมงกุฎมีการแข่งขัน รวม 13 สาขาวิชา ได้แก่ ภาษาจีน เศรษฐศาสตร์ (ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน) วิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ (ระดับอุดมศึกษา) หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ภาษาญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การแข่งขันภาษาจีนเพชรยอดมงกุฎ เป็นการแข่งขันภาษาจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยกเว้นการจัดในสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น จะเห็นได้จากการสมัครเข้าแข่งขันมีจำนวนสูงขึ้นทุกปี และผู้ชนะเลิศการแข่งขันระดับอุดมศึกษา จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษาจากสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ไปศึกษาต่อในทุกระดับชั้น ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน นับได้ว่าโครงการเพชรยอดมงกุฎเป็นโครงการที่ให้โอกาสแก่นักเรียนนักศึกษา ทุกสังกัดทั่วประเทศ สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้โดยการอุปถัมภ์โครงการของสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี จึงถือว่าเป็นโครงการที่มีส่วนช่วยเหลือประเทศชาติในการเสริมสร้างคุณธรรมและส่งเสริมความรู้ความสามารถของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งต่อไปจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ นับได้ว่าพระคุณเจ้าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มองเห็นว่าการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าจะต้องพัฒนาคนเป็นลำดับแรก
การแข่งขันปีนี้มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา จากทุกสังกัดสมัครเข้าแข่งขันทั้งสิ้น จำนวน 4,276 คน เป็นนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3จำนวน 330 คน ระดับประถมศึกษา ปีที่ 4-6 จำนวน 550 คน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 609 คน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน2,546 คน และนิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 241 คน
ผลปรากฎว่าผู้ที่ชนะเลิศเหรียญทอง ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาพระมหารัชมงคลมุนี ในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ วรรชนา แซ่จู นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ สุรชัย เกียรติไชยากร จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ในแต่ละระดับชั้น ดังนี้ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ Wanpharuay Siphromting จาก โรงเรียนสารสาสน์วิเทศสายไหม ระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ ทินกร แซ่เหยาะ จากโรงเรียนกวง หมิงหัวเฉียว และ ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ได้แก่ มณียา บุญนำ จากโรงเรียนกวงหมิงเฉียว
สำหรับผู้เข้าแข่งขันสัญชาติจีน ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองของแต่ละระดับชั้น ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนต้น ได้แก่ เจีย ซี เจียง จากโรงเรียนสารสาสน์วิเทศสมุทรปราการ ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ Liu Zihan จากโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์สุวรรณภูมิ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ Shanru Long จากโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพ ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ อาหลี แซ่ฉ่าง จากโรงเรียนอรุโณทัยวิทยาคม และระดับอุดมศึกษา ได้แก่ Zhang Qiuyu จากวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก