กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงาน MED CHIC Innovation Day 2019 ภายใต้หัวข้อ "ขับเคลื่อนการบริการทางการแพทย์สู่นวัตกรรมทางการแพทย์ (Driving Healthcare through Innovation)" พร้อมเปิดตัว "ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (Suandok Medical Innovation District)" เพื่อผลักดันนวัตกรรมทางการแพทย์ และสร้างความตื่นตัวในด้านนวัตกรรมต่อบุคคลากรทางการแพทย์ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ สตาร์ทอัพ ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและเอื้อต่อการพัฒนาผลงานนวัตกรรมต่อไปในอนาคต
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือการพัฒนาย่านนวัตกรรม (Innovation District) ของประเทศไทย ระหว่าง NIA และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย (ตามหลักเกณฑ์คัดเลือกพื้นที่ย่านนวัตกรรม) เพื่อใช้เป็นพื้นที่ดำเนินการด้านพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของวิสาหกิจเริ่มต้น และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษด้านนวัตกรรม โดยมีขอบเขตความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งย่านนวัตกรรมในพื้นที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ร่วมกับพื้นที่เป้าหมาย นำร่องใน "ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก" เพื่อให้เป็นพื้นที่ย่านนวัตกรรมที่มีศักยภาพของสินทรัพย์ครบ 3 ด้านคือ ด้านเครือข่าย ด้านเศรษฐกิจ และด้านกายภาพ ซึ่งหากมีการวางแผนไว้อย่างเหมาะสม จะเกิดเป็นระบบนิเวศนวัตกรรมได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น ตามนโยบายสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นของรัฐที่ NIA ได้รับมอบหมาย โดยดำเนินการร่วมกับศูนย์บ่มเพาะและเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นในรูปแบบและกลไกต่างๆ
สำหรับย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก เป็นแนวคิดต่อยอดการพัฒนาย่านนวัตกรรมในประเทศไทยไปสู่ระดับภูมิภาค การมุ่งเป้าไปยังพื้นที่ย่านสวนดอกในจังหวัดเชียงใหม่นั้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพสูง ทั้งในเชิงกายภาพที่มีการกระจุกตัวของพื้นที่ให้บริการทางการแพทย์หลายแห่ง ทั้งยังมีความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STEP) ศูนย์บริการและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายนอกเพื่อสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดผลสำเร็จ รวมถึงพื้นที่ Co-Working Space อย่าง Chiang Mai & Co. หรือพื้นที่สร้างสรรค์อื่นๆ ที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเอง สามารถร่วมมือกันผลักดันแนวคิดย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกให้เกิดเป็นผลสำเร็จได้
โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่และกิจกรรมภายในเมืองหรือย่านให้ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม และธุรกิจใหม่ให้มีการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องมือและกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยและผู้ดำเนินกิจกรรมภายในย่านให้มีการรับรู้ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การส่งเสริมการใช้นวัตกรรม รวมถึงการทำกิจกรรมในพื้นที่ร่วมกัน โดยมุ่งหวังว่าการเกิดขึ้นของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก จะช่วยขับเคลื่อน Deep-Tech Startup ในด้าน Health-Tech ให้เพิ่มสูงขึ้น เกิดมูลค่าการลงทุนด้านนวัตกรรม ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนาของประเทศ มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการมุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านอาหารและเกษตรกรรม ด้านสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ ด้านพลังงานชีวภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้จริง ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรมของประเทศ ตามแนวยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 อีกทั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังมียุทธศาสตร์ในการแสวงหานวัตกรรมตามศักยภาพและจุดแข็งของมหาวิทยาลัย ที่นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมที่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมแล้ว โดยเฉพาะการส่งเสริมการวิจัยพื้นฐานขั้นก้าวหน้า (Frontier research) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะทำให้เกิดการสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาประเทศในอนาคตต่อไป
สำหรับการลงนามความร่วมมือในการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกในครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากย่านสวนดอก หนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ที่ครอบคลุมด้วยแหล่งเศรษฐกิจและพื้นที่การค้าที่ตอบรับกับวิถีชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่อยู่อาศัย และมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยมีจุดเด่นสำคัญคือเป็นย่านที่มีการกระจุกตัวของโรงพยาบาล สถานบริการทางการแพทย์ คลินิกเอกชน บุคลากรด้านการแพทย์เป็นจำนวนมาก มีพื้นที่วิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ตลอดจนพื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์และแบ่งปันไอเดียอย่าง Co – Working Space ซึ่งสามารถรองรับกลุ่มคนที่เข้ามาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย นักธุรกิจ นักลงทุน และสตาร์ทอัพ ทำให้ย่านสวนดอกกลายเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมต่อการเปิดรับสิ่งใหม่ที่จะเข้ามายังพื้นที่ได้ในอนาคต และเป็นที่มาของการริเริ่มทำกิจกรรมเชิงลึกเพื่อสนับสนุนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และบุคลากร เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้จริงทั้งเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ ซึ่งการจัดกิจกรรมในวันนี้ถือเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ ได้ทราบถึงการขับเคลื่อนการบริการทางการแพทย์สู่นวัตกรรมของคณะแพทยศาสตร์ และเห็นถึงตัวอย่างแนวทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์ จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ในกิจกรรมงานเสวนา และเพื่อเป็นการสร้างแรงขับเคลื่อนภายในองค์กรให้เกิดการพัฒนาบริการทางการแพทย์สู่นวัตกรรมมากขึ้น สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแถลงข่าวเปิดตัวย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก การแถลงข่าวเปิดตัว "หุ่นสำหรับช่วยฝึกฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน" นอกจากนี้ ยังมีส่วนนิทรรศการแสดงผลงานและเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์จากกลุ่มสตาร์ทอัพและคณาจารย์ทางการแพทย์ กว่า 30 ราย อาทิ Application "การประเมินอาการ IPAINA2D ในผู้สูงอายุ" ผลิตภัณฑ์เร่งการสมานแผล ALIVE CPR-AED Trainer และกิจกรรมการเสวนาด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ เช่น Mission to the Moon: Disrupting Healthcare with Tech Startup, From Lab Scale to Industrial Scale: Health Innovation Success Stories โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างดีจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโนยี ภาคเหนือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภาคเหนือ ศูนย์ศรีพัฒน์ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand