กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--กรุงเทพมหานคร
กวดขันจับปรับผู้กระทำผิดจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า
ตามที่สื่อมวลชน ระบุภายหลัง กทม. เพิ่มโทษจับปรับขับขี่หรือจอดรถบนทางเท้า จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท พบว่ามีการจับปรับผู้กระทำผิดได้น้อยมาก ซึ่งขัดต่อความเป็นจริงที่ได้รับแจ้งจากประชาชนว่ายังเห็นผู้ขับขี่หรือจอดรถบนทางเท้าจำนวนมากนั้น
นายจิรวัฒน์ แพงมา ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. เปิดเผยว่าที่ผ่านมา กทม. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ ทั้ง 50 สำนักงานเขต เข้มงวดกวดขันผู้ฝ่าฝืนขับขี่หรือจอดรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าอย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยตั้งจุดจับปรับผู้ฝ่าฝืน จากเดิม 115 จุด เพิ่มเป็น 233 จุดทั้งเช้าและเย็น มีผลการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทุกวัน โดยตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2561 ถึงวันที่ 15 ส.ค. 2562 จับกุมผู้กระทำความผิดได้ 21,586 รายว่ากล่าวตักเตือน 4,215 ราย เปรียบเทียบปรับ 15,472 ราย เป็นจำนวนเงิน 12,336,500 บาท
ในกรณีที่มีการกระทำความผิดซ้ำหรือก่อให้เกิดผลกระทบให้บุคคลอื่นได้รับความเดือดร้อนจะดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในอัตราโทษสูงสุด รวมทั้งมีนโยบายที่จะติดตั้งกล้อง CCTV ในถนนที่มีการกระทำความผิดจอดหรือขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าเป็นจำนวนมาก โดยนำร่อง 2 ถนน คือ ถนนสุขุมวิทและถนนพหลโยธิน และบางจุดที่มีกล้อง CCTV จะปรับมุมกล้องให้จับภาพบนทางเท้าเป็นบางส่วนโดยพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหาคาดจะช่วยลดการกระทบกระทั่งระหว่างประชาชน ผู้แจ้งเบาะแสและผู้กระทำความผิดได้
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กทม.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ในการขอใช้ข้อมูลทางทะเบียนรถยนต์/รถจักรยานยนต์ ให้ทราบถึงเจ้าของ/ผู้ครอบครองที่กระทำความผิดจอดหรือขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้า เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเชื่อมโยงกับกล้อง CCTV และประสานการทำงานร่วมกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่กรมการขนส่งทางบก และเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตในการบูรณาการกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดที่ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันไปแล้ว เช่น บริเวณถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง, บริเวณถนนพระราม 4 เขตคลองเตย, บริเวณถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง เป็นต้น อีกทั้งขณะนี้สำนักเทศกิจอยู่ระหว่างบูรณาการร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและกองบัญชาการตำรวจนครบาลในการวางมาตรการพักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตกับผู้ที่กระทำผิดซ้ำ อย่างไรก็ตามการกระทำผิดของผู้ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า ปัญหาหลักอยู่ที่จิตสำนึกและการเคารพกฎหมาย ซึ่งสำนักเทศกิจได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมรวมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดทางโทรศัพท์ แอปพลิเคชันไลน์ เฟซบุ๊ค และในอนาคตจะเพิ่มช่องทางการแจ้งให้มากขึ้นต่อไป