กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
สคช. ร่วมผลักดันการเชื่อมโยงระบบคุณวุฒิวิชาชีพและการอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตกำลังตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งระดับชาติและสากล สร้างโอกาสความก้าวหน้าให้กับผู้เรียนในการประกอบอาชีพ หลังจบการศึกษา สามารถย้ายไปทำงานที่ไหนก็ได้ทั้งในประเทศและระดับสากล
ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับ กับ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ในการผลักดันการเชื่อมโยงระหว่างระบบคุณวุฒิวิชาชีพและการอาชีวศึกษา เพื่อรองรับการเติบโตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเป้าหมายในการร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ เพื่อยกระดับบุคลากรในระดับอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะ ความรู้ในด้านทักษะและความสามารถในการประยุกต์ใช้ และความรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ตลอดจนผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรอาชีวศึกษา มีสมรรถนะในแต่ละระดับที่สอดคล้องตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งระดับชาติและสากล ทั้งนี้เพื่อเชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับมาตรฐานวิชาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ล่าสุด ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นผู้แทนสถาบันฯ เข้าร่วมการประชุมอาชีวศึกษาอาเซียน (ASEAN TVET Officials Meeting) โดยร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ "Strategies for Internationalized TVET Qualifications and Standards" ร่วมกับ ผู้แทนจาก UNESCO และ GIZ Thailand โดยมี ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนหัวข้อถัดมา รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ภายใต้หัวข้อ "Challenges in Development on Vocation Education and Skills training focusing on TVET Qualification" โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจาก ผู้แทนการหอการค้าเยอรมัน-ไทย ผู้แทนจากประเทศเวียดนาม ผู้แทนจาก บริษัท Pearson ผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่น และผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ซึ่งการประชุมอาชีวศึกษาอาเซียน (ASEAN TVET Officials Meeting) ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน สมาชิกอาเซียนสมทบ หน่วยงาน/องค์กรและเครือข่ายด้านอาชีวศึกษา จากทั้งภาครัฐและเอกชนระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมจำนวน 300 ท่าน เนื่องจากตอบโจทย์ผลของการผลิต นักเรียน นักศึกษาที่ผ่านจากระบบการศึกษา และกำลังคนในอาชีพที่ผ่านการประเมินและรับรองตามมาตรฐานอาชีพให้ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อ หรือเพิ่มโอกาสในการทำงานในต่างประเทศ โดยยึดมาตรฐานอาชีพที่ได้รับการยอมรับจากภาคอุตสาหกรรมและเป็นสากล
ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานเปิดการประชุมผู้นำอาชีวศึกษาอาเซียน ASEN TVET officials Meeting on "Advancing TVET towards internationalization of Vocational Education and Standards for Sustainable Development" ในหัวข้อ "การพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อคุณวุฒิวิชาชีพด้านอาชีวศึกษาและมาตรฐานระดับสากลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำด้านเชื่อมโยงเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาของภูมิภาค ทั้งนี้ ในปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้กำหนดเป้าหมายในการยกระดับให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการจัดการอาชีวศึกษาของภูมิภาคอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายและยุทธศาสตร์ด้านอาชีวศึกษาของภูมิภาคกับการพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรม 4.0 รวมทั้งเชื่อมโยงสมรรถนะวิชาชีพกับมาตรฐานอาเซียนและมาตรฐานสากล ตลอดจน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมเส้นทางอาชีพสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีความก้าวหน้า และมีความมั่นคงในการทำงานเพิ่มมากขึ้น