กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ) ภายใต้โครงการการป้องปรามการเงินนอกระบบ ที่จัดขึ้นโดยสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระหว่างวันที่ 21 – 22 สิงหาคม 2562 ณ ห้องดอยสุเทพ โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ เชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้เป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการจัดทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครประมาณต้นเดือนกันยายน 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการซักซ้อมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ) ในการป้องกันและปราบปรามธุรกิจการเงินนอกระบบที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากแชร์ลูกโซ่ตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อคิดเห็นปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาธุรกิจการเงินนอกระบบที่ผิดกฎหมายให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ด้านการสืบสวนและสอบสวนที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ตามการแบ่งเขตพื้นที่ของกรมสรรพากร ภาค 8 ซึ่งมีจำนวน 8 จังหวัด จังหวัดละ 14 คน ประกอบด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน และจังหวัดเชียงใหม่ รวมเป็นจำนวน 112 คน และพนักงานเจ้าหน้าที่ด้านการสืบสวนและสอบสวนจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 อีกจำนวน 8 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 120 คน โดยนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวถึงธุรกิจการเงินนอกระบบที่ได้มีการพัฒนารูปแบบกลโกงและวิธีการหลอกลวงประชาชนมากยิ่งขึ้น และขยายตัวออกไปในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับรูปแบบของธุรกิจการเงินนอกระบบ และวิธีการที่เหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้นำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชนพร้อมกันไปด้วย รวมทั้งการทำความเข้าใจกับกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้เสียหายให้มากที่สุด
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ แบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกคือ เมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2562 ภาคเช้า เวลา 09.00 - 10.30 น. เป็นการบรรยาย เรื่อง "ลักษณะการขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่" โดยนายณัชภัทร ขาวแก้ว นิติกรชำนาญการ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และเวลา 10.30 - 12.00 น. เป็นการบรรยาย เรื่อง "สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเสี่ยงจะเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่"โดยนางสาวอาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ การประกอบธุรกิจประเภทนี้ จะมีลักษณะ ดังนี้ (1) ไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงกับ สคบ. หรือจดทะเบียนขายตรงกับ สคบ. แต่ดำเนินธุรกิจจะแตกต่างไปจากที่แผนที่ได้ยื่นต่อ สคบ. (2) บังคับให้สมัครเป็นสมาชิกหรือมีเงื่อนไขให้สมาชิกต้องซื้อสินค้า เพื่อมีสิทธิในการเข้าร่วมธุรกิจ (3) สมาชิกไม่ต้องนำสินค้าไปเสนอขายต่อผู้บริโภค แต่มุ่งเน้นให้สมาชิกไปชักชวนบุคคลอื่นมาเข้าร่วมเครือข่าย ทั้งนี้ รายได้หรือผลตอบแทนมาจากการแนะนำที่คิดคำนวณจากจำนวนสมาชิกเข้าร่วมเครือข่ายมากขึ้น (4) สินค้ามีราคาสูงแต่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีนโยบายในการรับสินค้าคืนเพราะระบบการจ่ายเงินเป็นการนำเงินจากผู้สมัครรายใหม่มาจ่ายให้กับรายเก่าต่อ ๆ กันไป และ (5) ไม่ได้ซื้อสินค้าเพื่อบริโภคแต่เป็นการซื้อสินค้าเพื่อหวังรับผลประโยชน์ตอบแทน จึงไม่เข้าข่ายได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าและไม่เข้าเงื่อนไขเป็นผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค
2. สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเสี่ยงจะเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ การดำเนินธุรกิจประเภทนี้ มีลักษณะเป็นการระดมทุนคล้ายแชร์ลูกโซ่ทั่วไป แต่เป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนจากประชาชน เช่น การขุดเหรียญดิจิทัล หรือการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ หรือการระดมทุนผ่านช่องทาง ICO (Initial Coin Offering)โดยผู้ระดมทุนทำเหมือนว่าจะพัฒนาโปรเจกต์ต่าง ๆ แต่ไม่ได้มีเจตนาทำจริงเพียงต้องการระดมเงินจากประชาชนเท่านั้นซึ่งสามารถสังเกตได้ คือ มักเร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุน โดยเสนอผลตอบแทนที่สูงมีการการันตีผลตอบแทน หรือเสนอผลตอบแทนให้จากการหาสมาชิกใหม่ ไม่มีหนังสือชี้ชวนหรือมีแต่ไม่ชัดเจน และมีสัญญาณเตือนภัย เช่น ข่าวเตือนภัยหรือความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ภาคบ่าย เวลา 13.00 - 16.30 น. เป็นการเสวนา เรื่อง "การกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และบทบาทของหน่วยงานในการดำเนินการตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527" โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายปกรณ์ ธรรมโรจน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ต.ท. พงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ นายพงศ์ธร ทองด้วง ผู้อำนวยการส่วนนิติการ กองกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นางสาวรุ่งทิพย์ จินดาพล ผู้อำนวยการส่วนป้องปรามการเงินนอกระบบสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยมีนายทิวนาถ ดำรงยุทธ นิติกร ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีสาระสำคัญของการเสวนา เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบความผิด บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเมื่อเกิดการกระทำความผิด อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 รวมถึงลักษณะการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2562 เวลา 8.30 – 12.00 น. เป็นการบรรยาย เรื่อง "แนวทางการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และการวิเคราะห์กรณีตัวอย่างการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527" โดย พ.ต.ท. พงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ