กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้นำด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธนาคารไทย ที่ได้รับการประเมินโดย WWF ผลจากการศึกษาชี้ธนาคารไทยสามารถบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลได้ดี ขณะที่ภาพรวมยังพัฒนาได้อีกมาก
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เปิดผลสำรวจการประเมินความสามารถในการบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance – ESG) ของธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจากการประเมินธนาคาร 35 แห่ง ตามรายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร หรือ Sustainable Banking Assessment (SUSBA) พบธนาคารเพียง 4 แห่งจากสิงคโปร์ และไทย ที่สามารถดำเนินกิจการได้ตามหัวข้อการประเมินอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของเกณฑ์การประเมินจำนวน 70 ข้อ โดยมีการพิจารณาจากกรอบการดำเนินงาน 6 ด้านหลัก ได้แก่ วัตถุประสงค์, นโยบาย, กระบวนการ, บุคลากร, ผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอ ที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความใส่ใจ
ในผลกระทบที่จะมีต่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ร้อยละ 51 ของธนาคารที่ได้รับการประเมินยังปฏิบัติได้ไม่ถึง 1 ใน 4 ของหลักเกณฑ์ดังกล่าว
"ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันในทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่เติบโตอาจสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงอาจทำให้สิ่งแวดล้อมต้องถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้และเพื่ออนาคตที่มั่นคงของประชากร ธนาคารในภูมิภาคอาเซียนต้องดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญอื่นๆ ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร" จีนนี่ สแตมป์ หัวหน้าโครงการ Asia Sustainable Finance ของ WWF กล่าว
รายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร (SUSBA) ประจำปี พ.ศ. 2562 นี้ WWF จัดทำขึ้นเพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของธนาคาร 35 แห่งจาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเครื่องมือนี้ถูกออกแบบมาเพื่อติดตามการดำเนินงานของธนาคารด้านความยั่งยืน ซึ่งจะพิจารณาว่าธนาคารแต่ละแห่งมีความตั้งมั่นในการคัดกรอง หรือมีกลไก และการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางการพิจารณาให้กู้ยืมสินเชื่อกับลูกค้า รวมถึงการติดตามผล ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านสิ่งแวดล้อมในพอร์ตสินเชื่อ
สำหรับธนาคารในประเทศไทย ผลการประเมินในภาพรวมแสดงให้เห็นความคืบหน้าในการบูรณาการ ESG เข้าสู่กระบวนการทำงานเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทยถือเป็นผู้นำ โดยสามารถดำเนินการได้สูงกว่าร้อยละ 40 ของเกณฑ์การประเมิน
"ธนาคารไทยยังแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าด้านการพัฒนาบุคคลากร โดยเน้นการพัฒนาขีดความสามารถและการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดความมีประสิทธิผลของการบูรณาการด้าน ESG ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของธนาคารในอนาคต" นางสาวพรฤดี ตังคเศรณี ผู้จัดการโครงการการเงินเพื่อความยั่งยืนของ WWF กล่าว
นอกจากนี้ จากผลการประเมินในระดับภูมิภาคของปีนี้ พบว่า ธนาคาร DBS, OCBC และ UOB แสดงความเป็นผู้นำ โดยการประกาศนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน รวมถึงมีการปฏิบัติตามข้อผูกพันเกี่ยวกับการไม่ทำลายป่า
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการประเมินทั่วทั้งภูมิภาคในเรื่องให้การสนับสนุนที่เพียงพอต่อการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนอันเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารในภูมิภาคอาเซียนยังทำได้ไม่รวดเร็วพอ โดยพบว่ามีธนาคารเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่มีการดำเนินนโยบายบริหารความเสี่ยงหรือการประเมินความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ มีธนาคารเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ที่กำหนดนโยบายให้ลูกค้าต้องมีการดำเนินงานโดยอ้างอิงมาตรฐานการดำเนินธุรกิจตามกรอบความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือ
ภาคการเงินในภูมิภาคอาเซียนมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม โดยเห็นได้จากการที่ธนาคารกว่าร้อยละ 91 ในภูมิภาค ยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเชื้อเพลิงพลังฟอสซิลเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีธนาคารพาณิชย์เพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่กำหนดนโยบายมิให้มีการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงมีเพียงร้อยละ 17 ของธนาคารที่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ แม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของโลก
"รายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคารที่ WWF จัดทำขึ้นนี้เป็นเครื่องมือสำคัญต่อนักลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยจะช่วยให้เราติดตามความคืบหน้าของการบูรณาการESG ในธนาคารต่างๆ ได้ รวมทั้งยังสนับสนุนให้นักลงทุนเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อผลักดันให้เกิดพัฒนาการที่ดีของภาคธุรกิจการเงินการธนาคารได้" อลิสแตร์ ทอมสัน ผู้อำนวยการ First State Investment ซึ่งเป็นสถาบันการเงินจากประเทศสิงคโปร์กล่าวสรุป
รายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร
รายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร หรือ SUSBA ประจำปี 2562 นี้เป็นการปรับปรุงจากรายงานการประเมินความยั่งยืนของธนาคารประจำปี 2561 ที่ WWF ได้จัดทำขึ้น เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของธนาคาร 35 แห่ง จาก 6 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยประเมินจากตัวชี้วัดที่แสดงถึงความสามารถในการบูรณาการ ESG ของธนาคาร ( ได้แก่ เจตจำนง นโยบาย กระบวนการ บุคคลากร ผลิตภัณฑ์ และ พอร์ตโฟลิโอ) ผลการประเมินนี้นำเสนอในรูปแบบของเว็บไซต์ (www.susba.org) ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกระบุธนาคารที่ต้องการทราบผลและเลือกหลักเกณฑ์ที่ต้องการข้อมูลได้
เครื่องมือการประเมินความยั่งยืนของธนาคาร (SUSBA Tool) ที่จัดทำขึ้นโดย WWF ถูกนำมาใช้เพื่อติดตามการบูรณาการ ESG ของธนาคารทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2560รวมทั้งเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของธนาคารโดยอ้างอิงจากกรอบการดำเนินงานที่ยั่งยืนทั้ง 6 ด้าน เครื่องมือนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อติดตามการดำเนินงานของของธนาคารด้านความยั่งยืน โดยพิจารณาว่าธนาคารมีความตั้งมั่นที่จะคัดกรองกิจกรรมของธนาคาร ผ่านนโยบายการให้กู้ยืม การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อลูกค้าและระบบติดตามผล รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงและโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านสิ่งแวดล้อมของพอร์ตสินเชื่อ โดยในปี 2562 นี้มีธนาคารที่ได้รับการประเมินทั้งสิ้น 35 แห่งที่ดำเนินงานใน 6 ประเทศ
หลักเกณฑ์การประเมินนี้จะพิจารณาจากข้อมูลภาษาอังกฤษที่เปิดเผยต่อสาธารณะและได้รับการเผยแพร่ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของรายงานประจำปี 2561 รายงานความยั่งยืน หรือ รายงานความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ขององค์กร
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF สำนักงานประเทศไทย ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และ WWF ถือเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงานด้าน การอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลก ที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษา ทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภค ที่เกินพอดี สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.wwf.or.th