กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมเปิดตัวการอบรม "การจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย" ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. เพื่อฝึกอบรมช่างให้เข้าใจเกี่ยวกับการใช้และติดตั้งสารทำความเย็นธรรมชาติในแอร์และตู้เย็นอย่างถูกต้อง ปลอดภัย นำไปสู่การลดการใช้พลังงานและลดภาวะโลกร้อน
การฝึกอบรม "การจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย" เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ซึ่งดำเนินการโดย GIZ ภารกิจของโครงการฯ คือ การสนับสนุนการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของโครงการฯ คือ การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรภาคบริการในการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติอย่างปลอดภัย ดังนั้นโครงการฯ จึงได้ร่วมมือกับสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการทำความเย็นและการปรับอากาศ (RAET) วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. จัดหลักสูตรการฝึกอบรมนี้ เพื่อให้ผู้ฝึกอบรมหันมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดย RAET จะให้ความรู้และเทคนิคด้านการใช้งานของสารทำความเย็นธรรมชาติที่ปลอดภัย นอกจากนี้ มจพ. ยังได้รับเงินทุนจากกองทุน RAC NAMA ที่บริหารโดย กฟผ. มาสนับสนุนอุปกรณ์การฝึกอบรมสำหรับจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม ขณะที่ GIZ จะสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
นางมาร์กาเร็ต ทังก์ อุปทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทางด้านนโยบายและมาตรการทางการเงินจากรัฐบาลอังกฤษและเยอรมนีผ่าน NAMA Facility ให้มาริเริ่มโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อยกระดับสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และในพิธีเปิดการฝึกอบรมวันนี้ เรากำลังตอกย้ำความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการส่งเสริมการผลิตและการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติหรือ "Green Cooling" ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทย ความมุ่งมั่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของเราในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ (net-zero) ในสหราชอาณาจักรรวมถึงในระดับนานาชาติ ที่เราได้ร่วมมือกันอยู่ อย่างเช่น ประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนด้านการเงินจำนวนครึ่งล้านยูโร (ประมาณ 17 ล้านบาท) เราจะพัฒนาแรงงานช่างให้มีทักษะ และสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้ " Green Cooling" ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก"
นายยาน แชร์ อัครราชทูตและอุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ประเทศเยอรมนีได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ในด้านทักษะทางวิศวกรรมที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องกลและไฟฟ้า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เยอรมนีได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยเป็นอย่างมาก เช่น เมื่อ 60 ปีที่แล้ว มจพ. เป็นมหาวิทยาลัยเทคนิคที่ก่อตั้งโดยโครงการอาชีวศึกษาของเยอรมนีและยังคงเป็นสถาบันชั้นนำด้านการศึกษาทางเทคนิคและอาชีวศึกษาจนถึงปัจจุบัน"
"นอกจากเราจะสนับสนุนในภาคการศึกษา โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาคุณภาพของการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาในประเทศไทยแล้ว เรายังมุ่งเน้นในเรื่องการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นในประเทศไทย และการหลีกเลี่ยงการใช้สารอันตรายที่ดำเนินการไปแล้วในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ดังนั้นเราจึงต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการทำความเย็นในภูมิภาคอาเซียน และเป็นประเทศตัวอย่างที่สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน" นาย ยาน แชร์ กล่าวเสริม
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. กล่าวว่า "มจพ.มุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการให้ความรู้ คุณธรรมและความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ เราตระหนักดีว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และการผลิตที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ด้วยเหตุนี้สารทำความเย็นธรรมชาติหรือ "Green Cooling" จึงถูกหยิบยกให้เป็นเทคโนโลยีสำคัญในภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เรามีความเชี่ยวชาญทางด้านความรู้เชิงเทคนิคและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ และมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนการจัดฝึกอบรมจากโครงการ RAC NAMA เราวางแผนที่จะฝึกอบรมครูฝึกภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นและหัวหน้าช่างในประเทศไทย ให้สามารถใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ติดไฟได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยสากลและสามารถเผยแพร่ความรู้ไปสู่ช่างเทคนิคคนอื่นๆ ทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อที่ว่าเราจะได้มีครูฝึกที่มีคุณภาพมากขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และพร้อมก้าวสู่สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน"
รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชาญ ทองจับ หัวหน้าโครงการและหัวหน้า RAET วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. กล่าวว่า "ในการอบรมนี้ เราจะแนะนำการใช้สารทำความเย็น R290 สำหรับเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ต่ำ ซึ่งจะช่วยลดภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ การใช้ R290 ยังสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 5-25 และมีคุณสมบัติการถ่ายเทความร้อนที่ดีเยี่ยม นำไปสู่การพัฒนาเครื่องปรับอากาศคุณภาพสูง ที่ประหยัดพลังงานและช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้"
"หลักสูตรฝึกอบรมครั้งแรกนี้ จะมีครูฝึกช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นจำนวน 16 คนเข้าร่วม ในการอบรมภาคทฤษฎี ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสารทำความเย็นชนิดต่างๆ วัฏจักรระบบทำความเย็น ทฤษฎีการเชื่อม รวมไปถึงความเสี่ยงและข้อควรระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอนของการทำงาน เริ่มตั้งแต่การติดตั้ง การปฏิบัติงานเชื่อม การใช้งาน การตรวจสอบการรั่ว การติดฉลาก การรายงาน และการส่งมอบงาน รวมทั้งเรียนรู้เทคนิคการใช้เครื่องมืออย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งเครื่องมือที่ใช้ในต่างประเทศ และการประยุกต์ใช้กับเครื่องมือที่หาได้ในประเทศไทยอีกด้วย" รองศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชาญ กล่าวเสริม
นายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า "หลักสูตรการฝึกอบรมการจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย ได้ถูกพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจาก GIZ และมจพ. นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทั้งหมด 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นที่แรก และตามด้วยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 2 สุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 10 ลำปาง วิทยาลัยเทคนิคยโสธร วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 17 ระยอง ภายในปีพ.ศ. 2563 นี้โครงการ RAC NAMA ตั้งเป้าการจัดฝึกอบรมทั้งหมด 13 หลักสูตร โดยมีผู้ฝึกอบรมกว่า 200 คนทั่วประเทศไทย เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าโครงการฯ จะช่วยให้ผู้ฝึกสอนและหัวหน้าช่างในภาคอุตสาหรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็นเห็นประโยชน์ของ Green Cooling อย่างแท้จริงและเข้าใจวิธีใช้งานที่ปลอดภัย"