กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ซีพีเอฟ
ปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกับ ซีพีเอฟ และ บริษัท อินเตอร์เว็ท (ประเทศไทย) จำกัด จัดอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย "เข้าใจ รู้ทัน ป้องกัน ASF ในสุกร" แก่เกษตรกรกว่า 120 คน จาก 7 อำเภอของจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค ASF ในสุกร โดยมี นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบน้ำยาฆ่าเชื้อให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยนำไปใช้ในฟาร์ม ณ โรงแรมแคนทารี กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า จังหวัดปราจีนบุรีมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง การจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรเจ้าของฟาร์มขนาดเล็กตื่นตัว ตระหนักถึงผลกระทบของโรค และร่วมกันเฝ้าระวังรวมถึงเตรียมความพร้อมป้องกันโรคอย่างเข้มแข็ง ซึ่งทางจังหวัดปราจีนบุรี ได้ติดตามสถานการณ์และประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านการป้องกันโรคระบาดอย่างเต็มที่ ป้องกันขั้นสูงสุดไม่ให้เกิดโรค สร้างเครือข่ายป้องกัน และควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค
น.สพ.วรากร จิตรหลัง ปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรี ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรเฝ้าระวังป้องกันโรค ตั้งแต่การแจ้งข่าวสาร จนถึงการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ให้เพิ่มประสิทธิภาพรับมือโรค ASF และควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และดูแลพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยอย่างทั่วถึง วันนี้ได้จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ได้แนะนำวิธีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันโรคให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย วิธีการสังเกตอาการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องโรค และรู้วิธีป้องกันไม่ตื่นตระหนก โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจะต้องขึ้นทะเบียนในเครือข่าย ให้ทางปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรีได้ช่วยดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยต่อไป
ด้าน น.สพ.พิทักษ์พงษ์ คุ้มศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค ASF เป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านทั้ง กัมพูชา เวียดนาม ลาว และเมียนมา ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มียา หรือวัคซีนป้องกันได้เลย เป็นโรคที่ทางกรมปศุสัตว์ควบคุม ถ้าหากฟาร์มไหนมีการติดเชื้อจะต้องหยุดเลี้ยงสุกร และต้องทำลายสุกรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ที่ผ่านมาซีพีเอฟได้ร่วมจัดอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยแล้วหลายจังหวัด จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นจังหวัดที่ 4 ของภาคตะวันออก ต่อจากจังหวัดสระแก้ว ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับความสนใจและตื่นตัวกับโรคนี้มาก ส่งผลดีทั้งด้านการให้ความรู้เพื่อป้องกันโรค ASF ช่วยให้ทราบถึงข้อมูลสำคัญของการเลี้ยง เช่น จำนวนตัว พิกัดของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย นำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือป้องกันและเตรียมพร้อมควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ