กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประกวดแข่งขันโครงการพัฒนาทักษะผู้เรียนอาชีวศึกษาสู่การเป็นนวัตกร"R Cheewa Hackathon 2019" สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้หัวข้อ เกษตรอัจฉริยะ(Smart Farm) บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) และโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ระหว่างวันที่ 20-22 สิงหาคม 2562 ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จังหวัดปทุมธานี โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดงาน
ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างครูมืออาชีพที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้โปรแกรมมิ่ง เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะกระบวนการคิดสู่การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะนำประเทศสู่การพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเพื่อก่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมในสถานศึกษา โดยการประกวดแข่งขัน "R Cheewa Hackathon 2019" ภายใต้หัวข้อ เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) และโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) เป็นการแข่งขันเพื่อประยุกต์วิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ รวมถึงส่งเสริมและกระตุ้นให้นักศึกษาระดับอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC มีความเชี่ยวชาญในการ Coding และ IoT (Internet of Thing) โดยการเฟ้นหาที่สุดของ นวัตกรมืออาชีพอาชีวศึกษาที่ประยุกต์วิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ผ่านการสร้างจินตนาการด้วยบอร์ด KidBrightในการสร้างโครงงานของนักศึกษาอาชีวศึกษาระดับ ปวช. ในพื้นที่ EEC ได้แก่ สถานศึกษาอาชีวศึกษาในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยทีมผู้แข่งขัน ประกอบด้วยอาจารย์และนักศึกษาจำนวน 20 ทีม เข้าร่วมกิจกรรมฯ อย่างเข้มข้นต่อเนื่องตลอด 38 ชั่วโมง ซึ่งทีมที่ชนะการแข่งขัน จะมีโอกาสได้แสดงผลงานในงานวันรวมพลคนคิดไบร์ท ครั้งที่ 2 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ณ event gallery ชั้น 8 ห้างสรรพสินค้าเซน ถนนราชดำริต่อไป
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า สวทช.โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนแบบการคิดเชิงระบบ วิเคราะห์ และสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นระบบการคิดที่สำคัญ และจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังให้กับเยาวชนโดยเฉพาะในช่วงวัยเรียน ซึ่งกระบวนการสร้างให้เกิดการคิดดังกล่าว ไม่สามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมาผ่านการสอนทางทฤษฎี เนื่องจากเป็นกระบวนการคิด แต่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยการออกแบบเครื่องมือและบทเรียนที่เหมาะสม เนคเทค สวทช. จึงได้พัฒนาบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright เพื่อเป็นเครื่องมือการเรียน Coding และ IoT ขึ้น อีกทั้งKidBright เป็นบอร์ดสมองกลฝังตัวที่มีศักยภาพสูงสามารถพัฒนาเป็นระบบอัตโนมัติต่าง ๆ และควบคุมผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ด้วยการพัฒนาบอร์ดนี้ สวทช. จึงได้นำบอร์ด KidBright มาพัฒนาและเปิดโอกาสให้นักศึกษานำไปพัฒนาเป็นโครงงานระบบอัตโนมัติเพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริม และกระตุ้นให้นักศึกษาระดับอาชีวศึกษามีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Coding และ IoT