กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง
การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าว ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 13 – 16 สิงหาคม 2562 เพื่อติดตามการเพาะปลูกข้าวเจ้านาปีของเกษตรกร ปริมาณผลผลิต การประสบภัยธรรมชาติ ตลอดจนราคาข้าวเปลือกที่ผู้ประกอบการโรงสีรับซื้อ ซึ่งทั้ง 2 จังหวัด เป็นแหล่งผลิตข้าวเจ้าคุณภาพดีที่สำคัญของประเทศโดยข้อมูลการผลิต (ข้อมูลผลพยากรณ์โดยศูนย์สารสนเทศการเกษตร ณ เดือนมิถุนายน 2562) พบว่า
จังหวัดสุโขทัย มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ประมาณ 1.04 ล้านไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 0.99 ล้านไร่ ให้ผลผลิตรวม 0.55 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวประมาณ 553 กิโลกรัม/ไร่ (ณ ความชื้น 15 %) สำหรับจังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ประมาณ 1.37 ล้านไร่เนื้อที่เก็บเกี่ยว 1.31 ล้านไร่ ให้ผลผลิตรวม 0.77 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวประมาณ 588 กิโลกรัม/ไร่ (ณ ความชื้น 15 %)
เมื่อเทียบกับเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2561/62 พบว่า เนื้อที่เพาะปลูกของทั้ง 2 จังหวัด เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน(ปีการผลิต 2562/63) ประกอบกับราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มสูงขึ้น เกษตรกรจึงกลับมาทำนาในที่นาที่เคยปล่อยว่าง แต่เนื้อที่เพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากเนื้อที่เพาะปลูกข้าวมีจำกัด
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรทั้ง 2 จังหวัด ได้ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงเดือนมิถุนายน - กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ต้นข้าวของเกษตรกรที่เพาะปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม ได้รับความเสียหาย ต้นแคระแกร็น และแห้งตาย ส่งผลให้เนื้อที่เก็บเกี่ยวมีแนวโน้มลดลง ขณะที่มีเกษตรกรบางพื้นที่ในจังหวัดสุโขทัย เช่น อำเภอเมือง อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอศรีสำโรง และในจังหวัดพิษณุโลก เช่น อำเภอเมือง อำเภอบางระกำ อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอวังทอง ได้เลื่อนการเพาะปลูกข้าวออกไป เนื่องจากฝนมาล่าช้า โดยเกษตรกรได้เริ่มปลูกช่วงปลายเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ส่งผลให้ทำนาได้เพียงรอบเดียว จึงคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดลดลง (ปกติเกษตรกรจะเริ่มปลูกข้าวช่วงเดือนพฤษภาคม และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำไปจำหน่ายในเดือนสิงหาคม)
สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกทั้ง 2 จังหวัดพบว่า ณ เดือนสิงหาคม 2562 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจังหวัดสุโขทัย ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ (ความชื้น 25 - 26%) ประมาณตันละ 6,700 - 7,200 บาท และข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) ประมาณตันละ 8,000 - 8,200 บาท สำหรับจังหวัดพิษณุโลก ราคาข้าวเปลือกเจ้า
ที่เกษตรกรขายได้ (ความชื้น 25 - 26%) ประมาณตันละ 6,800 - 7,000 บาท และข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) ประมาณตันละ 8,200 - 8,300 บาท
ดังนั้น หากพิจารณาในภาพรวม เมื่อปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ตลาดยังคงมีความต้องการข้าว ราคาข้าวเปลือกอาจจะรักษาระดับราคาอยู่ในเกณฑ์สูงได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรจะดูแลแปลงนาตลอดฤดูกาลเพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้มีวัชพืช และศัตรูพืชระบาด เพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพดี สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูง นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาสนับสนุนเงินทุนให้กับสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพ เพื่อซื้อเครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือก เนื่องจากจะเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยชะลอปริมาณข้าวออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ