กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผล การดำเนินงานการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนกรกฎาคม 2562 จำนวน 1,210 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 28.0, 37.2 และ 34.8 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 37.1, 12.9, 12.1, 25.5 และ 12.4 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรม ที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 79.8 และ 20.2 ตามลำดับ
โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวลดลง จากระดับ 94.5 ของเดือนมิถุนายน โดยเป็นการปรับตัวลดลงในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
จากการสำรวจ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนกรกฎาคม 2562 มีสาเหตุจากการส่งออกที่ชะลอตัวเป็นผลมาจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 102.3 โดยเพิ่มขึ้นจาก 101.3 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เกิดการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศรวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2562 อีกทั้งผู้ประกอบการเห็นว่าจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนกรกฎาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน โดยมีรายละเอียดดังนี้
อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 78.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 79.5 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมเซรามิก,อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.1 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่ง ซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.1 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 107.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.1 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม, อุตสาหกรรมเคมี, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 94.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 96.5 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผล ด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก (สินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเครื่องใช้ในครัวเรือน ถุงพลาสติก ฟิล์มพลาสติก มียอดขายในประเทศลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศชะลอตัวลง) อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่ง รถกระบะเชิงพาณิชย์ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการสั่งซื้อรถยนต์ใหม่ จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกลดลงในตลาดออสเตรเลีย) อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิว มีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ผลิตภัณฑ์ ครีมบำรุง เครื่องสำอาง สำหรับหน้า/ตัว มียอดการส่งออกลดลงจากประเทศ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป CLMV เนื่องจากผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจึงทำให้ยอดขายลดลง)
อุตสาหกรรมในภาคกลาง ที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมที่เป็นส่วนประกอบและชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศมียอดขายในประเทศ เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ประเภทฟอยล์ บรรจุภัณฑ์กระป๋อง มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 78.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 80.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณ การผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นด้าย ไหมทอ มีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและญี่ปุ่นลดลง ผลิตภัณฑ์ผ้าขนสัตว์เทียม มีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและยุโรปลดลง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม มียอดขายในประเทศลดลง)
อุตสาหกรรมเซรามิก (ยอดสั่งซื้อเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น จาน ชาม และถ้วยเซรามิก ลดลงจากตลาดอาเซียน ขณะที่ยอดขายสุขภัณฑ์ กระเบื้องปูพื้นมียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปประเภทไม้ และเหล็ก มียอดขายในประเทศลดลง การส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ มีคำสั่งซื้อลดลงจากสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และยุโรป อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมยา (ผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค มีการผลิตและยอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้ในโรงพยาบาลและคลินิก ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงช่วงฤดูฝน)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 92.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.1 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 88.8ปรับตัวลดลง จากระดับ 91.0 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) มีคำสั่งซื้อลดลงจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เนื่องจากปัจจุบันมีการจัดเก็บและสำรองข้อมูลผ่านคลาวด์เป็นอีกทางเลือกใหม่และอาจเข้ามาแทนที่การจัดเก็บข้อมูลบนอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ขณะที่อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศญี่ปุ่น ) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง จาก ตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปลดลง ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อผ้าเด็ก เสื้อไหมพรม เสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อยืดมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากการจับจ่ายภายในประเทศหดตัว) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (เครื่องจักรกลการเกษตร และเครื่องเกี่ยวนวดข้าว มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากกำลังซื้อในภาคเกษตรชะลอตัว จากราคาสินค้าเกษตรหลายรายการ หดตัว) อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม (สินค้าพรีเมี่ยม Handmade มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นและมีการส่งออกไป ญี่ปุ่น จีน ไต้หวันเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับความนิยมมากขึ้น)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.1 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 109.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 109.1 ในเดือนมิถุนายน 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ, ตู้แช่เย็น มียอดคำสั่งซื้อทั้งในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกเครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์ มีคำสั่งซื้อจากตะวันออกกลาง สหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้น)
อุตสาหกรรมเคมี (ผลิตภัณฑ์เคมีอุตสาหกรรม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์สีทาบ้าน สีน้ำพลาสติก มียอดขายประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ขณะที่ครื่องจักรอุตสาหกรรม เช่น เครื่องขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ เครื่องปั้มโลหะในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปรับปรุงเครื่องจักร)
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศชะลอตัว ประกอบกับมีสินค้าเหล็กจากจีนเข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับ 110.0 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 76.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 79.4 ในเดือนมิถุนายนองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรวมควันมีการส่งออกไปประเทศจีนลดลง เนื่องจากมีการชะลอคำสั่งซื้อเนื่องจากมีสต็อกในปริมาณสูง ขณะที่ยอดขายในประเทศชะลอลง) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบมียอดขายในประเทศชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางแปรรูป ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและอินโดนีเชีย ลดลงเนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ขณะที่คำสั่งซื้อไม้แปรรูปในประเทศชะลอตัวลง) อุตสาหกรรมในภาคใต้ ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะแลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารปรุงรสมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยอดสั่งซื้ออาหารสดและอาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม ในประเทศเพิ่มขึ้น)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 98.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนกรกฎาคม2562 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และดัชนีฯ กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน โดยมีรายละเอียดดังนี้
เน้นตลาดในประเทศ
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 91.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 101.5 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
เน้นตลาดต่างประเทศ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 99.9 ปรับตัวลดลง จากระดับ101.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผล ประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการเดือนกรกฎาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. สภาวะเศรษฐกิจโลก ผู้ประกอบการมีความกังวล ร้อยละ 70.6 เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 69.6 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากมาตรการกีดกันการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทยชะลอตัว
2. อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ยเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 30.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น จากค่าเฉลี่ยในเดือนมิถุนายน ที่ 31.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ซึ่งผลการสำรวจพบว่า มีผู้ประกอบการมีความกังวล ร้อยละ 55.9 เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 53.9 ในเดือนมิถุนายนเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก
3. สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ผู้ประกอบการมีความกังวล ร้อยละ 51.4 เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 49.8 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ
4. ราคาน้ำมัน ผู้ประกอบการมีความกังวล ร้อยละ 47.6 เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 44.2 ในเดือนมิถุนายน จากราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น
5. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ผู้ประกอบการมีความกังวล ร้อยละ 36.5 เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 35.1 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ต้องการให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1.) เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศ และมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการ SMEs
2.) เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ในส่วนที่ยังล่าช้าอยู่ เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ