กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
รางวัลฮีโร่ รางวัลที่มอบให้เพื่อการยกย่องเชิดชูผู้ที่อุทิศตนทำงานให้กับชุมชนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและงานด้านเอชไอวีจากทั่วภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกพร้อมที่จัดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ ณ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ผู้จัดงานมอบรางวัล HERO Awards ครั้งที่ 3 เริ่มเปิดให้เสนอชื่อบุคคลหรือองค์กรชุมชนเข้าชิงรางวัลจากทั่วภูมิภาคแล้ว
งานมอบรางวัล HERO Awards ย่อมาจากเอชไอวี (HIV) ความเสมอภาค (Equality) และสิทธิ์ (Rights) ซึ่งถือเป็นงานกาล่ามอบรางวัลประจำปีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูผลงานอันโดดเด่นในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ด้านเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และการทำงานเพื่อชุมชนชาวเลสเบี้ยน (Lesbian) ชายรักชายหรือเกย์ (Gay) คนรักสองเพศ (Bisexual) และคนข้ามเพศ (Transgender) หรือที่เรียกว่ากลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในภูมิภาค นอกจากนี้ภายในงานจะมีการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิแอ็พคอม (APCOM) ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนที่ทำงานด้านเอชไอวีและกลุ่มความหลากหลายทางเพศชั้นนำในภูมิภาคนี้
งานมอบรางวัล HERO Awards ประจำปี 2019 มีกำหนดจัดขึ้นวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน ณ บ้านพักเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เพื่อระดมทุนสนับสนุนการดำเนินการของมูลนิธิแอ็พคอม ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในการทำงานต่อสู้กับปัญหาเอชไอวี พัฒนาสุขภาวะและรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก งานมอบรางวัลนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหลายภาคส่วน ได้แก่ บริษัทเอกชน องค์กรชุมชน และคณะผู้แทนทางการทูตจากต่างประเทศ
ผู้จัดงาน HERO Awards ขอเชิญสมาชิกจากชุมชนและผู้สนับสนุนจากทั่วภูมิภาคเสนอชื่อบุคคลและองค์กรหรือหน่วยงานที่มีผลงานโดดเด่นในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนและสุขภาวะของกลุ่มความหลากหลายทางเพศและกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี เพื่อเข้าชิงรางวัลทั้งสิ้น 9 ประเภท ได้แก่ ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice); สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health & Wellbeing); พันธมิตรชุมชน (Community Ally); องค์กรชุมชน (Community Organisation); นักกิจกรรมเยาวชน (Young Achiever); รางวัลฮีโร่สำหรับคนข้ามเพศ(Transgender Hero); ฮีโร่ผู้ต่อสู้กับเอชไอวี (HIV Hero); ฮีโร่ด้านชุมชน (Community Hero); และพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Ally)
คณะกรรมการที่ตัดสินรางวัลประกอบด้วยตัวแทนจากคณะที่ปรึกษาระดับภูมิภาคของมูลนิธิแอ็พคอม และจากเครือข่ายชุมชนด้านเอชไอวีและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย (Asia Pacific Network of People Living with HIV/AIDS - APN+), เครือข่ายกลุ่มบุคคลข้ามเพศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Transgender Network - APTN), และสมาคมเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และอินเตอร์เซ็กส์ นานาชาติในเอเชีย (International Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender and Intersex Association in Asia - ILGA Asia) ซึ่งจะร่วมกันคัดเลือกผู้ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลรอบสุดท้ายของแต่ละประเภท ประเภทละ 3 ท่าน และจะมีเพียงท่านเดียวที่ได้รับรางวัลในแต่ละประเภท ผู้ได้รับรางวัลจะยังได้รับการสนับสนุนให้เดินทางมารับรางวัลในงานกาล่าวันที่ 22 พฤศจิกายนอีกด้วย ขั้นตอนการเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลไม่มีค่าใช้จ่ายและใช้เวลาไม่นาน การเสนอชื่อจะสิ้นสุดในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน เวลา 17.00 น. ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมและเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลได้ที่ www.HEROawards.asia
คุณมิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ็พคอม กล่าวว่าความสำเร็จของงานมอบรางวัล HERO Awards ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2017 แสดงให้เห็นว่า ผู้คนต้องการร่วมเฉลิมฉลองและได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานอันโดดเด่นของเหล่าฮีโร่ในชุมชน
"นิยามของการเป็นฮีโร่ คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ตาม ใครก็สามารถเป็นฮีโร่ในสังคมได้โดยการให้ความช่วยเหลือ พัฒนาความเป็นอยู่ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร คุณก็สามารถร่วมเชิดชูเกียรติเหล่าคนที่น่ายกย่องนี้ให้เฉิดฉายและเป็นที่รู้จักมากขึ้นได้ ด้วยการเสนอชื่อพวกเขาให้เข้าชิงรางวัล ฮีโร่ อวอร์ด และเข้าร่วมงานมอบรางวัลด้วย ผมขอขอบคุณผู้สนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งบริษัทเอกชน องค์กรชุมชน หรือคณะผู้แทนทางการทูต ที่ช่วยเราเชิดชูเกียรติผู้ที่อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม และร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการระดมทุนที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานในชุมชน" คุณมิดไนท์กล่าว
นายไมเคิล เคอร์บี นักกฎหมายและนักวิชาการชาวออสเตรเลียอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ประเทศออสเตรเลีย ตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศของมูลนิธิแอ็พคอม กล่าวเสริมว่า "งานด้านการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกยังคงตามหลังภูมิภาคอื่น ๆ อยู่ แต่ก็มีคลื่นลูกใหญ่ในการแก้ไขกฎหมายและทัศนคติของสังคมกำลังเกิดขึ้น และผู้ที่ทำให้เกิดคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือฮีโร่ของพวกเรา เมื่อ 50 ปีก่อน ตอนที่มนุษย์ลงเหยียบดวงจันทร์ได้เปลี่ยนทัศนคติของคน แม้แต่คนที่ลังเลก็ตาม ให้เห็นถึงความงามและความเป็นหนึ่งเดียวกันของโลกดวงค่อนข้างเล็กนี้ เช่นเดียวกับเหล่าฮีโร่ของแอ็พคอมที่อุทิศตนทำงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อสร้างสังคมที่เป็นปึกแผ่นและสวยงามจากการแบ่งปันความรักให้แก่กัน"