กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดประชุมสัมมนาวิชาการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประจำปี 2562 โดยมีนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เป็นประธาน ในโอกาสนี้ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายจเรศักดิ์
นันตะวงษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธุรกิจเคมิคอลส์เอสซีจี ตลอดจนคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีภารกิจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ป่าชายเลนและพื้นที่แนวชายฝั่ง ตลอดจนการบริหารจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการเพื่อรองรับการดำเนินงานในด้านของการบริหารจัดการที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อสอดรับพันธกิจในการขับเคลื่อนและผลักดันยุทธศาสตร์ และมาตรการด้านการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม การดำเนินงานในมิติต่างๆ ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องอาศัย การบูรณาการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน รวมถึงการเสริมสร้างความสามารถเชิงรุกขององค์กร พัฒนาระบบกลไก และฐานข้อมูลในการบริหารจัดการ อันจะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสมดุลและยั่งยืนภายในปี 2580 เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี(พ.ศ.2561 - 2580) ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อไปว่า จากการรายงานในเบื้องต้น ท่านทั้งหลายคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการที่จะดำเนินงานและพัฒนางานด้านต่างๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความรู้จากงานวิชาการ ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญที่ต้องทำการศึกษาวิจัยเป็นอันดับแรก พื้นฐานขององค์ความรู้และข้อมูลทางวิชาการ พร้อมทั้งเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เหมาะสมมีขอบข่ายครอบคลุมทุกด้าน อันจะเกิดประโยชน์ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพแก่ผู้ศึกษาวิจัยและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดการสัมมนาวิชาการของกรมทรัพยากรและชายฝั่ง ประจำปี 256๒ ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างกระบวนการรวบรวมองค์ความรู้ เสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัย และการมีส่วนร่วมในการบูรณาการงานทั้งในระดับหน่วยงานภายในกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้านและเครือข่ายประชาชน เพื่อพัฒนางานด้านวิชาการทางทะเลและชายฝั่งให้สามารถตอบสนองต่อการดำเนินงานในระดับประเทศได้อย่างยั่งยืน
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรม ทช. ในฐานะที่มีภารกิจหลักในการสงวนรักษา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ และเป็นข้อมูลทางวิชาการในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นการทำงานเชิงรุกและบูรณาการแบบมีส่วนร่วมกับหลายภาคส่วนและชุมชน จึงต้องมีการประมวลองค์ความรู้และผลการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงกำหนดให้มีการจัดสัมมนาวิชาการ 2 ปีครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านองค์ความรู้และการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง การเสริมสร้างองค์ความรู้
จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและการสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน การรับฟังแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานที่เป็นที่ประจักษ์ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้และต่อยอดองค์ความรู้ได้ต่อไป
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวอีกว่า โดยในปี 2562 นี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กำหนดจัด "การสัมมนาวิชาการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประจำปี 256๒" ภายใต้หัวข้อ "องค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และเครื่องมือเพื่อการบริหารจัดการทะเลและชายฝั่ง" ในวันที่ 22 และ 23 สิงหาคม 2562 โดยชูประเด็นขององค์ความรู้และเครื่องมือที่จำเป็น ซึ่งมีความสำคัญในการบริหารจัดการทะเลและชายฝั่ง และในปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วยหลายภาคส่วน ทั้งจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานด้านทะเลและชายฝั่ง และเครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง เข้าร่วมประชุมจำนวนรวมกว่า 500 คน
สำหรับรูปแบบการสัมมนาในครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ โดยวิทยากรทั้งในกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และวิทยากรรับเชิญเฉพาะด้าน โดยมีการบรรยาย จำนวน 2 เรื่อง การเสนวนา จำนวน 6 เรื่อง นิทรรศการนำเสนอผลสำเร็จในการดำเนินงานของกรม จำนวน 6 เรื่อง และนวัตกรรมและเทคโนโลยีของกรม จำนวน 5 เรื่อง รวมถึการนำเสนอผลงานวิชาการภาคโปสเตอร์ จำนวน 60 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีประเด็นของขยะทะเลที่ปัจจุบันกลายเป็นปัญหาระดับชาติ จึงเกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการบริหารจัดการขยะทะเล โดยมีการรับมอบทุ่นกักขยะทะเลจากบริษัท ธุรกิจเคมิคอลส์เอสซีจี เพื่อเป็นการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขยะให้เป็นไปตามโรดแมปการแก้ไขปัญหาขยะ อีกทั้งลดปัญหาการทิ้งขยะในทะเลด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อให้ระบบนิเวศทางทะเลกลับมาสมบูรณ์และอย่างยั่งยืนอีกครั้ง ตลอดจนลดปริมาณขยะบนบกที่จะไหลลงสู่ท้องทะเล ไม่ให้เกิดความเสียหายและทำลายระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และสัตว์ทะเลหายากอีกด้วย
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้ จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเลซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากขยะในแม่น้ำลำคลองไหลสู่ทะเล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทางทะเล โดยความร่วมมือระหว่าง ทช. และ เอสซีจีในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่ได้นำนวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหาขยะในแหล่งน้ำ สำหรับ"ทุ่นกักขยะลอยน้ำ" ที่เอสซีจีได้ส่งมอบให้กับ ทช. จำนวน 20 ชุด ในครั้งนี้ ทาง ทช. จะนำไปวางบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา รวม 20 จุด ในพี้นที่ 13 จังหวัดนำร่อง เช่น เพชรบุรี ระยอง สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ทุ่นกักขยะลอยน้ำจะอยู่ในการดูแลของ ทช. โดยเอสซีจี จะร่วมติดตามผลและศึกษาการจัดการขยะที่เก็บได้จากแหล่งน้ำ เพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และป้องกันไม่ให้กลับสู่แหล่งน้ำอีก
"นอกจากนี้ เอสซีจียังได้นำความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์มาคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ "หุ่นยนต์ดักจับขยะลอยน้ำ 4.0" ซึ่งจะช่วยเก็บขยะในพื้นที่น้ำนิ่ง และพื้นที่ที่เข้าถึงลำบาก โดยได้นำระบบ ML (Machine Learning) และIOT (Internet of Thing) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ยังออกแบบให้ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมทดลองใช้ภายในปลายปี 2562 นี้" นายชลณัฐ กล่าวทิ้งท้าย