กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--จีเอ็มเอ็มแกรมมี่
“กลุ่มจีเอ็มเอ็ม” เปิดเผยทิศทางกลยุทธ์และเป้าหมายปี 51 ตั้งเป้าโกยรายได้รวมทะลุ 8 พันล้านบาท ชี้เพลงยังคงเป็นธุรกิจหลัก เพราะตลาดเพลงขยายตัวต่อเนื่อง ผนวกกับมีความพร้อมเหนือคู่แข่ง และได้ปรับโมเดลหารายได้ใหม่เป็น “การให้บริการเพลงแบบครบวงจร (Total Music Business)” ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคและความต้องการของคู่ค้าที่เปลี่ยนไป ครอบคลุมทั้ง Singing, Listening และ Watching Business ดันมาร์จิ้นพุ่ง ขณะที่มั่นใจธุรกิจมีเดียโตทั้งกลุ่ม เน้นสร้างรายได้จากการต่อยอดแบรนด์
นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงทิศทางกลยุทธ์และเป้าหมายปี 2551 ว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้รวม 8 พันล้านบาท เติบโต 7% เมื่อเทียบกับปี 2550 ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 7.4 พันล้านบาท และเติบโต 25% เมื่อเทียบกับปี 2549 โดยเพลงยังคงเป็นธุรกิจหลัก ซึ่งตั้งเป้ารายได้ปี 2551 ไว้ที่ 4 พันล้านบาท เติบโต 11% เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 3.6 พันล้านบาท และเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปี 2549
สำหรับ 3 ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้รายได้เติบโต ประกอบด้วย 1.โอกาสทางการตลาดมากขึ้น เพราะตลาดเพลงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของผู้บริโภคโดยตรงที่เสพเพลงได้มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีและในส่วนของภาคธุรกิจที่เพลงกลายเป็นอาวุธทางการตลาดที่สำคัญ อีกทั้งปัจจุบันยังเกิดเทรนด์ธุรกิจการเงิน เทคโนโลยี สื่อสาร ฯลฯ นิยมใช้เพลงเป็นเครื่องมือสำหรับการทำ CRM (Customers Relationship Management) 2.ความพร้อมเหนือคู่แข่ง เพราะบริษัทฯ มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพลงครบถ้วน (Total Music Company) ทำให้ศิลปินไว้วางใจให้ดูแลบริหารสิทธิ์ครบทุกด้าน มีศิลปินมากที่สุด และเป็นคลังคอนเทนต์ใหญ่ที่สุด และ 3.การปรับโมเดลหารายได้ใหม่ ชูกลยุทธ์ Total Music Business คือ Singing, Listening & Watching Marketing, Segment Marketing และ Subsidize Marketing เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและความต้องการคู่ค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ธุรกิจเพลงมีรายได้และมาร์จิ้นสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ เริ่มให้ความสำคัญกับโมเดลการหารายได้ใหม่แบบ Singing, Listening & Watching Business มาประมาณ 2-3 ปีแล้ว และเริ่มเห็นผลว่าตั้งแต่ปี 2549 รายได้ธุรกิจเพลงเติบโตขึ้นชัดเจน ขณะเดียวกันยังมีรายได้อื่นๆ นอกจาก Physical เช่น ดิจิตอล โชว์บิซ การบริหารลิขสิทธิ์ การบริหารศิลปิน ฯลฯ ซึ่งเติบโตเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 5% เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่า Physical ส่งผลให้สัดส่วนกำไรของธุรกิจเพลงโดยรวมสูงขึ้นเช่นกัน
“เทรนด์รายได้ดิจิตอล มิวสิคของโลกกำลังไปสู่โมเดล Subsidize Marketing คือ มีรายได้จากการเป็นเครื่องมือสนับสนุนกลยุทธ์ทางการตลาดของพันธมิตร ด้วยการสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้เอ็กคูลซีพ เน้นคอนเซ็ปต์ Money can’t buy ซึ่งปัจจุบันเมืองไทยบริษัทใหญ่ๆ ในธุรกิจสื่อสาร ธนาคาร ฯลฯ กำลังนิยมนำเพลงมาเป็นอาวุธ CRM ในรูปแบบการ Subsidize จึงคาดว่าธุรกิจดิจิตอลของเพลงจะมีรายได้หลายร้อยล้านบาทจากกลยุทธ์นี้” นายไพบูลย์ กล่าว
ส่วนจีเอ็มเอ็ม มีเดีย ตั้งเป้ารายได้ปี 2551 ประมาณ 3.5 พันล้านบาท มุ่งเน้นสร้างแบรนด์ให้เป็นอันดับ 1 ในใจผู้บริโภค เพื่อนำมูลค่าเพิ่มของแบรนด์ไปต่อยอดรายได้ โดยทีวียังคงเป็นธุรกิจหลัก ซึ่งตั้งเป้ารายได้ปี 2551 ไว้ที่ 1.3 พันล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1.2 พันล้านบาท อาทิ เอ็กแซ็คเป็น แบรนด์แข็งแกร่งทางด้านซิทคอม และเริ่มต่อยอดไปสู่ละครเวที, จีเอ็มเอ็ม ทีวีเป็นแบรนด์แข็งแกร่งทางด้านวาไรตี้ทีวี ซึ่งจะขยายไปสู่ละครแนววัยรุ่น, ดีทอล์ค เป็นผู้นำแบรนด์เรียลลิตี้ ทอล์คโชว์ และอินเด็กซ์ เป็นแบรนด์โดดเด่นของอีเวนต์ แมนเนจเมนต์ ซึ่งเริ่มต่อยอดจากงานรับจ้างผลิตไปสู่การสร้างงานของตัวเองในรูปแบบของเทรดแฟร์ โดยปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 1.2 พันล้านบาท เติบโต 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1,040 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจวิทยุ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำและสามารถนำไปต่อยอดสู่ธุรกิจโชว์บิซและธุรกิจทัวร์จากฐานของแฟนคลับได้แล้ว กำลังสร้างแบรนด์วิทยุอินเตอร์แอ็คทีฟ หรือ iradio ให้เป็นคอมมูนิตี้ของคนฟังเพลง โดยปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 750 ล้านบาท เติบโต 10% และธุรกิจสิ่งพิมพ์ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 250 ล้านบาท เติบโตเพียงเล็กน้อย เนื่องจากตลาดสิ่งพิมพ์หดตัว
“นอกจากเรื่องของธุรกิจแล้ว ปีนี้เรามีเป้าหมายสำคัญอีกอย่างคือ การสร้างคน เพราะธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่หัวใจสำคัญอยู่ที่คน เรามีโครงการสร้าง Teen & Pop Idol New Model และสร้างทาเลนต์เบื้องหลังรุ่นใหม่ควบคู่ไปด้วย ซึ่งผู้บริหารทั้งแกรมมี่และมีเดียจะร่วมมือกันโดยใช้แพลทฟอร์มของเราผลักดัน ” นายไพบูลย์ กล่าว