กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมคณะผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน ร่วมประชุมความร่วมมือ "การเตรียมอุตสาหกรรมไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ขับเคลื่อน Industry Transformation ด้วย STI" โอกาสนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2562 ณ ชั้น 8 ห้องประชุม Passion (802) สภาอุตสาหกรรมฯ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีประเด็นการหารือ ประกอบด้วย
"SMEs Transformation" ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยกลไกตลาดและทุนสนับสนุนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม (STI Market & Innovation Fund)
การพัฒนานวัตกรรมชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (1 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด : 1 สถาบันอุดมศึกษา : 1 นวัตกรรมชุมชน) โดยการสร้าง Technology Platform สำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก /วิสาหกิจชุมชน/ OTOP และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกษตรสู่การเป็น Smart Farming
"BCG Model" การพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนผ่านกลไก SMEs Innovation Consortium ส่งเสริมการสร้าง Sharing Innovation Platform
"Re-skill/Up-Skill" เพื่อยกระดับทักษะความสามารถแรงงานไทย ด้วยการพัฒนา Thailand National Skill Development Program Platform
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการหารือร่วมกันว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวง อว. ได้ดำเนินงานร่วมกับ ส.อ.ท. ในการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ดังนั้นการหารือในครั้งเพื่อรับฟังโจทย์ทิศทางการพัฒนาและผลักดันให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมถึงข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนงาน ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของกระทรวงผ่าน 4 แพลตฟอร์มสำคัญ ได้แก่
1.การสร้างคนและองค์ความรู้ โดยรวมหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ผนึกกำลังกันนำไปสู่การตอบโจทย์ประเทศ สร้างระบบนิเวศของการสร้างนักวิจัย เพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถทั้งของไทยและของโลก
2.การขับเคลื่อนองค์ความรู้และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการใช้ศาสตร์ต่างๆ เช่น AI, Creative Economy, Sharing Economy
3.การลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน และส่งเสริมงานวิจัยที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ
4.การตอบโจทย์วิจัยที่เป็นประเด็นท้าทายของประเทศและโลก ด้วย Frontier Research เป็นต้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าวว่า การหารือดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดย ส.อ.ท. ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้ ยุทธศาสตร์สำคัญของ ส.อ.ท. 5 ด้าน ได้แก่
1.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม
2.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย
3.ยกระดับ SMEs และส่งเสริม Made-in-Thailand
4.เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม
5.ยกระดับทักษะ ความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์
"...ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ส.อ.ท. ได้มีการนำเสนอแนวทางการส่งเสริมเพื่อกำหนดเป็นกรอบในการดำเนินงานร่วมกัน โดยเน้นการสร้างโอกาสให้ SMEs เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะแรงงานรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อเป้าหมายสู่การพัฒนาเทคโนโลยีได้เองภายในประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้ในอนาคต ทั้งนี้ ส.อ.ท. และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะร่วมกันทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนให้เกิด Industry Transformation ด้วย วทน. ให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ..." ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว