กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--กรุงเทพมหานคร
กรณีมีการเผยแพร่คลิปนักศึกษาชาวญี่ปุ่น ยืนขวางไม่ให้รถจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้าบริเวณแยกลำสาลี เขตบางกะปิ โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นระบุ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องวินัยจราจรและการเคารพสิทธิสาธารณะ นั้น
นายจิรวัฒน์ แพงมา ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 สำนักงานเขต เข้มงวดกวดขันผู้ฝ่าฝืนขับขี่หรือจอดรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยตั้งจุดจับปรับผู้ที่ฝ่าฝืน จำนวน 233 จุด ทั้งเช้าและเย็น ให้ครอบคลุมในทุกถนนของเขต รวมทั้งมีนโยบายที่จะติดตั้งกล้อง CCTV ในถนนที่มีการกระทำความผิดจอดหรือขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าเป็นจำนวนมาก โดยนำร่อง 2 ถนน คือ ถนนสุขุมวิทและถนนพหลโยธิน และบางจุดที่มีกล้อง CCTV อยู่แล้ว จะปรับมุมกล้องให้จับภาพบนทางเท้าเป็นบางส่วน โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหา นอกจากนี้ กทม. ได้ประสานการทำงานร่วมกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการตำรวจจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ กรมการขนส่งทางบก และเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตในการบูรณาการกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิด ที่ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันไปแล้ว เช่น บริเวณถนนพระราม 4 เขตคลองเตย, บริเวณถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง เป็นต้น อีกทั้ง ขณะนี้สำนักเทศกิจอยู่ระหว่างบูรณาการร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและกองบัญชาการตำรวจนครบาลในการวางมาตรการพักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตกับผู้ที่กระทำผิดซ้ำ อย่างไรก็ตาม การกระทำผิดของผู้ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า ปัญหาหลักอยู่ที่จิตสำนึกและการเคารพกฎหมาย ซึ่งสำนักเทศกิจได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดทางโทรศัพท์ แอปพลิเคชันไลน์ เฟซบุ๊ค และในอนาคตจะเพิ่มช่องทางการแจ้งให้มากขึ้นต่อไป
ด้าน นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญในการสร้างจิตสำนึกเรื่องระเบียบวินัยจราจรและความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด โดยจัดฝึกอบรมวินัยจราจรให้กับนักเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1,800 คน/ปี และมีแผนฝึกอบรมวินัยจราจรให้กับนักเรียนเพิ่มขึ้นให้ได้ปีละ 20,000 คน โดยครอบคลุมถึงโรงเรียนเอกชนใน กทม. ด้วย นอกจากนี้ ยังได้ตีเส้นจราจรขยายเลนซ้ายสุด เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์แล้ว 28 ถนน พร้อมทั้งสร้างกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์รณรงค์ให้เคารพสิทธิสาธารณะ คาดจะช่วยให้การทำผิดวินัยจราจรลดลง
แนวทางปลูกฝังระเบียบวินัยจราจรให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.
ด้าน นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษา และองค์การช่วยเหลือเด็กร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่เด็กและเยาวชน ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก 2) ส่งเสริมความรู้ความปลอดภัยด้านถนนให้คุณครูในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยบูรณาการเข้ากับการจัดการเรียนสอนและกิจกรรมนอกเวลาเรียน 3) จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฎิบัติการเขตนำร่องเพื่อให้เกิดพื้นที่โรงเรียนปลอดภัย โดยนำร่องใน ๔ เขต ได้แก่ สำนักงานเขตภาษีเจริญ
สำนักงานเขตดอนเมือง สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และสำนักงานเขตประเวศ ร่วมกับคุณครู ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้แทนจากสำนักเทศกิจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร 4) ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. เข้าร่วมกิจกรรม "นักข่าวรุ่นจิ๋ว : เด็กไทยซ้อนท้ายใส่หมวก" และ 5) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กทม. เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง "ความปลอดภัยทางถนนและการสวมหมวกนิรภัย"
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สำนักการศึกษา ได้วางแนวทางการปลูกฝังการสร้างจิตสำนึกเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคมแก่เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะการสอดแทรกเรื่องวินัยจราจรและการเคารพสิทธิสาธารณะในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยได้กำหนด 9 มาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา ดังนี้ 1) กำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน เป็นนโยบายสำคัญของโรงเรียน 2) ดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนร่วมกับชุมชนและผู้ปกครอง 3) กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบและมีคู่มือปฏิบัติสำหรับบุคลากรเพื่อความปลอดภัย 4) จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน 5) จัดระบบการดูแลคุ้มครองเด็กที่ดี 6) จัดระบบความปลอดภัยด้านอาคารและสถานที่โดยรอบของโรงเรียน 7) กำหนดการเดินทางไปกลับโรงเรียนอย่างถูกวิธี มีความปลอดภัยจากการ จราจร 8) บันทึกข้อมูลอุบัติภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และ 9) จัดให้มีหลักสูตร "จิตสำนึกความปลอดภัย"