กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
ถึงแม้ว่าสาเหตุของการเป็นมะเร็งเต้านม ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีหลักฐานอย่างหนึ่งที่ บอกได้ว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนในเพศหญิง เป็นสารกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมให้มีการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้น โดยในภาวะปกติร่างกายอาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจน ในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามระยะการเจริญพันธุ์ เช่น การเข้าสู่วัยสาว การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ หรือการเข้าสู่วัยทอง
เนื่องจากเต้านมเป็นอวัยวะของเพศหญิงที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นเซลล์เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ ถ้าเต้านมใครมีระยะเวลาการอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนนาน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งคนที่มีประจำเดือนครั้งแรกเร็วกว่าปกติ คือ มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี และหมดช้ากว่าอายุ 55 ปี คนที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรหลังอายุ 30 ปี จะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากรักษาเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ดังนั้น การรู้ตัวก่อนว่ามีก้อนมะเร็งอยู่ในเต้านมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยการตรวจคลำเต้านมตัวเองเป็นประจำ หากคลำแล้วสะดุดพบก้อน ก็ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด ด้วยการทำอัลตราซาวด์ หรือการทำแมมโมแกรม เพราะหากเป็นเนื้อร้าย จะได้รีบทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป