กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"รมช.มนัญญา" จัดทัพ 3 กรม ผนึกกำลังขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ตีกรอบ 4 แผนงาน ดันนโยบายรัฐ เร่งบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร
วันนี้ (24 ส.ค.62) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบบูรณาการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมี นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการ ร่วมด้วยผู้บริหาร และข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตรและผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ณ โรงเรียนอนุบาลเมืองอุทัยธานี อำเภอเมืองจังหวัดอุทัยธานี
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาในวันนี้เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการบูรณาการการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานทั้งในระดับพื้นที่ และระดับกรม เพื่อตอบสนองงานเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องสำคัญให้การปฏิบัติราชการเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาภาคเกษตรเละนโยบายการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม จึงกำหนดให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมจัดทำแผนบูรณาการร่วมกันในรูปแบบการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (Area-Based Approach) โดยใช้ผลการวิจัยนวัตกรรมพืช มาตรฐานพืชและปัจจัยการผลิตของกรมวิชาการเกษตร และมาตรฐานการตรวจบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นเครื่องมือในการบูรณาการ และใช้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำกับเป็นเป้าหมาย โดยเน้นปรับภารกิจของ 3 กรมให้รองรับภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้ 4 แผนงานสำคัญ คือ
1.แผนงานกำหนดเป้าหมายรายได้เกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ที่มีคุณภาพในสินค้าเกษตรสำคัญ โดยให้สหกรณ์ใช้ระบบแบ่งปันผลกำไรสินค้า ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา และปาล์มน้ำมันเป็นพืชพลังงาน เพื่อเป็นต้นแบบขยายผลสู่สหกรณ์และเกษตรกรต่อไป
2.แผนงานสร้างนวัตกรรมและเครื่องมือทางการเกษตรในราคาที่เข้าถึงได้เพื่อลดต้นทุน โดยขยายฐานการผลิตและฐานการตลาดของสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาระบบสารสนเทศที่ให้เกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรเข้าถึงข้อมูลนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต การตลาดและราคาสินค้า และจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ
3. แผนงานควบคุมมาตรฐานการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีในการเกษตรเพื่อนำไปสู่การลด ละ เลิกการใช้สารเคมี และปุ๋ยเคมี โดยพิจารณายกเลิกใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เร่งปราบปรามสารเคมีเกษตรไม่มีคุณภาพ ปุ๋ยปลอมที่วางจำหน่ายในร้านค้าและในสหกรณ์ รวมทั้งมาตรการควบคุมและตรวจสารพิษตกค้างพืชผักและผลไม้นำเข้าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และ
4. แผนงานการใช้กัญชา กันชง และพืชสมุนไพรทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยให้เมล็ดพันธุ์กัญชาและเมล็ดพันธุ์กันชงเป็น"เมล็ดพันธุ์ควบคุม"ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 เพื่อควบคุม และอนุญาตการใช้ และผลิตต้นกล้ากัญชา และกันชงเพื่อแจกจ่ายและควบคุม โดยใช้สหกรณ์เป็นแหล่งปลูกเฉพาะเพื่อการแพทย์ รวมทั้งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นการปลูกและการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
"ทุกหน่วยงานต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการขับเคลื่อนนโยบายและโครงการสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรฯ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างแท้จริง โดยทั้ง 3 กรม ล้วนมีบทบาทสำคัญในการดูแลด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ตลอดทั้งส่งเสริมระบบการวางแผนด้านการเงินของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยสหกรณ์จะต้องมุ่งให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรมากกว่าการมุ่งหวังผลกำไร จึงขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันคิด ร่วมกันทำงาน บูรณาการขับเคลื่อนนโยบายและโครงการสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรฯ ไปสู่การปฏิบัติ ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การลดใช้สารเคมี การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ จะขับเคลื่อน "ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์" ให้เป็นจุดศูนย์รวมของสินค้าดีมีคุณภาพมาตรฐานของแต่ละท้องถิ่นและของจังหวัด เพื่อกระจายรายไปสู่เกษตรกรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนโดยสัปดาห์หน้าจะตั้งคณะกรรมการดำเนินการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป" นางสาวมนัญญา กล่าว
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่กำกับดูแลภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ได้รับทราบนโยบายและแนวทางการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน และร่วมกันกำหนดทิศทางการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยการร่วมกันขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหา ในโอกาสนี้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี ได้บรรยายพิเศษด้วย
ทั้งนี้ หัวข้อสัมมนา ประกอบด้วย (1) นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2)แนวทางการบูรณาการปฏิบัติงานของหน่วยงาน โดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และ (3) การขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของหน่วยงานแบบบูรณาการ