กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ความปลอดภัยในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย (Patient Safety) ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่ไทยและประชาคมโลกตื่นตัว ทำอย่างไรจะลดความแออัดของผู้ใช้บริการ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชนรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมพลังความร่วมมือกับ 26 โรงพยาบาลต้นแบบในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เปลี่ยนผ่านด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านระบบวิศวกรรมโลจิสติกส์ เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับการบริหารจัดการ พร้อมทั้งวางแผนอนาคตตั้งเป้าขยายผลพัฒนาโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยของประเทศและส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในอนาคต
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ "Hospital Logistics Network : ติดปีกโรงพยาบาลยุคดิสรัพชั่น" ณ โรงแรมริชมอนด์ กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านการแพทย์และสุขภาพโดยมุ่งสู่การเป็นเมดิคัลฮับ(Medical Hub)ของภูมิภาคอาเซียน แต่โลกวันนี้และอนาคตมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งจะก่อให้เกิดดิสรัพชั่น จึงเป็นโอกาสอันดีที่วิศวะมหิดลได้ริเริ่มโครงการ Hospital Logistics ช่วยเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดให้สามารถรับมือยุคดิสรัพชั่น ในการยกระดับพัฒนาความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วยคุณภาพและสามารถให้บริการที่รวดเร็วและแม่นยำ โดยได้ศึกษาวิจัยด้าน Healthcare Logistics ดำเนินโครงการ Train the Trainer เพื่อต้องการสร้างบุคลากรโรงพยาบาลให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการและสามารถนำแนวความคิดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการจัดการโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ต่อยอดสู่การปฏิบัติได้จริง ทั้งเป็นผลดีต่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัย ส่งเสริมธุรกิจเฮลท์แคร์รักษาพยาบาลในประเทศไทยสำหรับชาวต่างชาติที่มีมูลค่า 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของประเทศในอนาคตซึ่งมีมูลค่าราว 26,000 ล้านบาทอีกด้วย
รศ.ดร.ดวงพรรณ ศฤงคารินทร์ หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) กล่าวว่า ความปลอดภัยในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย (Patient Safety) ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการแพทย์และสุขภาพที่ไทยและประชาคมโลกตื่นตัว โดยกระบวนการในการรักษามีหลายขั้นตอน ปัญหาที่มักพบใน รพ. ได้แก่ ความแออัดของผู้มาใช้บริการ ขาดการจัดการปัญหาการจัดซื้อหรือสำรองยาไม่ถูกต้องแม่นยำ การสูญเสียงบประมาณ ขณะที่แต่ละหน่วยงานในหลายโรงพยาบาลยังไม่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขาดระบบข้อมูลในการติดตามและสอบย้อนกลับยาและเวชภัณฑ์เหล่านั้นได้ ศูนย์ LogHealth ได้ศึกษาวิจัยลงพื้นที่และวิเคราะห์ออกแบบโครงการโลจิสติกส์ในโรงพยาบาล โดยได้พัฒนาต้นแบบ Logistics Champion 26 โรงพยาบาล ผ่านการอบรมหลักสูตร Train the Trainer : Logistics in Hospital โครงการนี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่โรงพยาบาลโดยสามารถลดมูลค่าสินค้าคงคลังลงได้ มากกว่าร้อยละ 30 ส่งผลให้การบริหารการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น , ลดระยะเวลารอคอยของผู้รับบริการ อย่างน้อย ร้อยละ 20 , ลดขั้นตอนกระบวนการด้านระบบพัสดุ (ยาและเวชภัณฑ์) กระบวนการจัดซื้อ และลด Lead Time ในการรอคอยสินค้า, ลดปริมาณสำรองยาและเวชภัณฑ์ใหม่ โดยใช้เทคนิค ABC Analysis ทำให้มูลค่าสินค้าคงคลัง (ยาและเวชภัณฑ์) ลดลงอย่างน้อย ร้อยละ 20 , พัฒนากระบวนการขนส่งในโรงพยาบาล ใช้ทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตทางศุนย์ LogHealth มีแผนจะขยายความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ
ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ในการดำเนินงานโครงการ Hospital Logistics ได้พัฒนา 26 โรงพยาบาลต้นแบบ Logistics Champion ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช กทม.,โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จ.ปทุมธานี,โรงพยาบาลรามาธิบดี กทม.,โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา, โรงพยาบาลมุทรปราการจ.สมุทรปราการ, โรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จ.นครนายก,โรงพยาบาลสวนผึ้ง จ.ราชบุรี , โรงพยาบาลเลิดสิน กทม., โรงพยาบาลชลบุรี จ.ชลบุรี,โรงพยาบาลเชียงดาว จ.เชียงใหม่ , โรงพยาบาลนวมินทร์ กทม.,โรงพยาบาลลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ , โรงพยาบาลวัง จ.พิษณุโลก , โรงพยาบาลสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร, โรงพยาบาลสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี,โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี , โรงพยาบาลวชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กทม.,โรงพยาบาลวัดเพลง จ.ราชบุรี ,โรงพยาบาลสระบุรี จ.สระบุรี, ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จ.นครนายก, โรงพยาบาลมะการักษ์ จ.กาญจนบุร ,โรงพยาบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี, โรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์, โรงพยาบาลศรีณรงค์ จ.สุรินทร์, โรงพยาบาลเชียงแสน จ.เชียงราย, โรงพยาบาลแพร่ จ.แพร่
รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า จากความแออัดและความล่าช้าในบริการ ทางศิริราชฯ ได้เข้าร่วมโครงการ Hospital Logistics กับศูนย์ LogHeath วิศวะมหิดล โดยดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบและใช้เทคโนโลยีวางระบบโลจิสติกส์ของอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ทำให้เกิดระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพทั้งในส่วนของการไหล, กระบวนการ และการจัดการทรัพยากรในระบบโลจิสติกส์ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดของประชาชนผู้รับบริการและการดำเนินการในกระบวนการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการ Hospital Logistics ยังได้ศึกษาพัฒนาและจัดตั้งหน่วยขนส่งกลาง รวมทั้งวิเคราะห์ออกแบบเส้นทางขนส่งที่เหมาะสม ครอบคลุมสินค้า 7 หมวด ได้แก่ เวชภัณฑ์ยา , เวชภัณฑ์ไม่ใช่ยา , น้ำเกลือ , เวชภัณฑ์ปลอดเชื้อ , สิ่งส่งตรวจ , พัสดุ , น้ำดื่ม ทั้งนี้ช่วยให้บริการรักาและการขนส่งในโรงพยาบาลเป็นไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ถ่ายทอดประสบการณ์ว่า ปัญหาหลักที่โรงพยาบาลต้องการพัฒนาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก คือ การทำงานซ้ำซ้อนและความล่าช้า จึงได้ร่วมมือกับศูนย์ LogHealth วิศวะมหิดล ดำเนินโครงการโดยจัดตั้งระบบขนส่งกลาง สำหรับหมวดเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ พัสดุ และพัฒนาระบบโปรแกรมสารสนเทศครอบคลุมให้บริการรับ-ส่ง ผ้า สะอาด/สกปรก ส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ส่งวัสดุสำนักงาน ส่งเวชภัณฑ์เฉพาะทาง ให้บริการจัด-รับ-ส่ง เครื่องมือของงานจ่ายกลาง ถึงหน่วยงานทั้งโรงพยาบาล รวมทั้งการจัดส่งยาผลิตเอง ให้บริการรับใบสั่งยา และส่งยาผู้ป่วยในไปยังหอผู้ป่วยต่างๆ ขยายการให้บริการในส่วนงานโภชนาการด้วย ทั้งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโรงพยาบาลหลายด้าน เช่น ลดระยะเวลาและลดจำนวนบุคลากรที่ใช้ในการรับ-ส่งเครื่องมือ ผ้า เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ วัสดุสำนักงาน เวชภัณฑ์เฉพาะทาง กว่าร้อยละ 20 พัฒนาระบบบาร์โค้ดในวัสดุเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ทุกชิ้น ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพการให้บริการและเชื่อมต่อการบริหารจัดการ จนถึงด้านการเงินได้อย่างถูกต้องแม่นยำด้วย
รศ.นพ.ประสิทธิ์ วุฒิสุทธิเมธาวี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ซึ่งเข้าร่วมโครงการ Hospital Logistics เผยว่า ก่อนหน้านี้ รพ. พบปัญหาขาดการบูรณาการข้อมูลซึ่งทำให้การบริการประชาชนและการบริหารติดขัด จึงได้พัฒนาระบบโลจิสติกส์ทำให้การบริหารจัดการโรงพยาบาลทุกขั้นตอนให้มีความโปร่งใส นำข้อมูลที่เป็นจริงไปใช้ได้ สามารถลดปริมาณสต็อกในคลังลงได้ กำหนดปริมาณสต็อกได้อย่างเหมาะสม พัฒนาตรฐานระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่ดี พัฒนาประสิทธิภาพสต๊อกยาผู้ป่วยใน รพ.สงขลานครินทร์ ด้วยระบบ Logistics โดยใช้ข้อมูลอัตราการใช้จริง ลดมูลค่าการสำรองน้ำเกลือลงได้ ลดปัญหา Dead Stock ลดพื้นที่ในการสำรองน้ำเกลือบนหอผู้ป่วย มีระบบขนส่ง PSU Logistics Patient Transportation (PSU LPT) ให้บริการเวรเปลทันเวลาโดยวิเคราะห์ ออกแบบตามหลักวิศวกรรมโลจิสติกส์