กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--สกสว.
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
นักวิชาการชี้ทางออกให้มหาวิทยาลัยไทยหลังเผชิญปัญหาจำนวนนักศึกษาลดลง ควรทำงานวิชาการที่มีคุณภาพ และมีผลกระทบสูง ตอบโจทย์พื้นที่ จังหวัดอุตสาหกรรม สวมวิญญาณนักพัฒนาคิดโจทย์วิจัย แบบดักทางเพื่อ สร้างสมดุล มนุษย์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยี อย่างยั่งยืน
จากกรณีที่ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงเรื่อง "การปรับเปลี่ยนประเทศด้วยปัญญาจากฐานราก" เนื่องจากโลกรวมถึงประเทศไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน จาก Modernism ที่เน้นความทันสมัย มาสู่การสร้างความมั่งคั่งมั่นคงร่วมกันอย่างสมดุลในทุกภาคส่วน ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และปัญญามนุษย์เป็นสำคัญ
ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาของไทยและของโลกในอดีต คือการไม่บาลานซ์ใน 3 สิ่ง คือ ความไม่สมดุลระหว่าง "ธรรมชาติกับมนุษย์" "ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์" และ "ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี" เพราะฉะนั้นโจทย์วิจัย โจทย์ของประเทศในอนาคต คือการนำพาประเทศไปสู่สมดุลระหว่าง 3 สิ่งนี้ โดยมหาวิทยาลัยต้องทำงานตอบโจทย์สังคม ตอบโจทย์ประเทศ ไม่ใช่ตอบโจทย์ตัวเอง
ด้าน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการและเลขานุการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประเทศขณะนี้เปรียบเสมือนพายุลูกใหญ่ ที่ไม่ใช่เกิดขึ้นจากภาคนโยบาย แต่เกิดขึ้นจากกระแสของโลกที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบนี้เต็มๆ จากการลดของจำนวนนักศึกษา ยังไม่นับรวมปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย สิ่งเหล่านี้ทำให้สถานะทางการเงินการคลังของประเทศเริ่มหดตัวลงเรื่อยๆ ซึ่งไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงแค่ไหน นักวิจัย นักวิชาการ ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่รู้ว่าประเทศควรจะเตรียมการรับมือ ป้องกันปัญหาอย่างไร ต้องช่วยกันคิดและทำตั้งแต่ตอนนี้
ในส่วนของมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะอยู่ยาก แต่ก็ต้องอยู่ให้ได้เพราะทางออกของมหาวิทยาลัยแทบจะมีทางเดียวคือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะต้องช่วยกันทำโครงการวิจัยที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ ซึ่งแน่นอนว่ามหาวิทยาลัยรวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง จากเดิมที่มุ่งผลิตนักศึกษาเพียงอย่างเดียว มาเป็นการสร้างคนไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่น และในอนาคตอาจจะมีการพัฒนา University engagement index มาเป็นเครื่องมือวัดระดับการทำงานของมหาวิทยาลัยว่า ตอบโจทย์พื้นที่ ชุมชน จังหวัด และอุตสาหกรรมได้แค่ไหน และการประเมินให้คะแนนนี้อาจนำไปสู่การพิจารณางบประมาณที่จะได้รับในปีต่อๆ ไปอีกด้วย
"นอกจากนี้ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นนักวิจัยที่คิดโจทย์ดักทาง-คิดแบบนักพัฒนา จะคิดทำเฉพาะส่วนงานที่ตัวเองรับผิดชอบไม่ได้อีกแล้ว นักวิจัยที่ดีต้องคิดว่าบ้านเมืองต้องการอะไร ต้องคิดดักทางไปข้างหน้าว่าทำงานวิจัยเรื่องนี้แล้วใครจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ใช้แบบไหน ใช้แล้วจะเกิดปัญหาชุดใหม่ที่ต้องไปตามแก้หรือไม่ จุดจบของปัญหาอยู่ตรงไหน ยังมีอะไรที่สามารถใช้กระบวนการวิจัยไปปลดล็อกปัญหาในอนาคตได้หรือไม่ ดังนั้นนักวิจัยจะต้องวิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง แล้วเตรียมดักปัญหาด้วยการออกแบบงานวิจัย ถ้าทำอย่างนี้ได้แม้วันนี้ต่อให้ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทันที แต่วันข้างหน้าต้องได้ใช้แน่นอน เพราะเราทำดักทางไว้แล้ว" ดร.สีลาภรณ์ กล่าวในตอนท้าย