กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long Term Rating) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มูลค่า 1.0 หมื่นล้านบาท – ชุดที่ 2/2562 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2566 – ที่ระดับ 'A+(tha)' เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด
หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของ SCC
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่ 'A+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ 'A+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)'
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงขึ้น; อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง – ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของ SCC จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในประมาณ 3 เท่า ในปี 2562-2564 (อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 2.7 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562) ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงขึ้น SCC ยังคงรักษาแผนการใช้จ่ายลงทุนไว้ในระดับประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ในช่วงห้าปีข้างหน้า โดยร้อยละ 70-75 ของแผนการใช้จ่ายลงทุนดังกล่าวใช้สำหรับโครงการลงทุนหลักจำนวน 4 โครงการในธุรกิจเคมิคอลส์และแพคเกจจิ้ง ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อหุ้นสัดส่วนร้อยละ 55 ใน PT. Fajar Surya Wisesa Tbk. (Fajar) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย Fajar ด้วยเงินลงทุนประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อ 28 มิถุนายน 2562
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง – กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) ของ SCC น่าจะยังคงแข็งแกร่งอยู่ในระดับประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงสองปีข้างหน้า (ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 6.3 หมื่นล้านบาท) ฟิทช์คาดว่ารายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ จะค่อนข้างคงที่ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นในปี 2563 แนวโน้มอุตสาหกรรมที่อ่อนตัวลงของธุริจเคมิคอลส์น่าจะได้รับการชดเชยจากการเติบโตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และการขยายตัวของธุรกิจแพคเกจจิ้งของบริษัทฯ ฟิทช์เห็นว่าความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศไทยน่าจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ในขณะที่ความต้องการซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์หลายประเภทน่าจะถูกกดดันจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับจีน
การกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่หลากหลาย – ฟิทช์คาดว่าสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจแพคเกจจิ้งจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 25 ในปี 2563 จากการเข้าซื้อหุ้น Fajar อันดับเครดิตของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ทั้งประเภทผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ สำหรับธุรกิจหลักของบริษัทฯ ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งมีส่วนช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอ รวมถึงการลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง โดยปกติ EBITDA ของ SCC จะขึ้นอยู่กับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่ประมาณร้อยละ 80-85 ของ EBITDA รวม โดยความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่งได้ช่วยชดเชยผลกระทบจากวงจรธุรกิจขาลงของธุรกิจเคมิคอลส์ในช่วงปี 2554-2555 ในขณะที่ผลกำไรจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ลดลงในช่วงปี 2558-2561 ได้รับการชดเชยจากวงจรธุรกิจขาขึ้นของธุรกิจเคมิคอลส์และการขยายตัวของธุรกิจแพคเกจจิ้ง
ธุรกิจหลักทั้งหมดของ SCC มีการกระจายตัวในหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20-25 ในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า (ปี 2561 ประมาณร้อยละ 15) โดยได้รับการสนับสนุนจากผลประกอบการของโรงงานปูนซีเมนต์ในภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการขยายกำลังการผลิตของธุรกิจแพคเกจจิ้งในประเทศฟิลิปปินส์ และการรวมผลประกอบการของ Fajar ในประเทศอินโดนีเซียหลังจากการเข้าซื้อกิจการ ฟิทช์คาดว่าการเพิ่มขึ้นของผลกำไรจากธุรกิจปูนซีเมนต์ในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าและอัตราส่วนกำไรของผู้ประกอบการ นอกจากการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน SCC ยังมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 27 ของรายได้รวมในปี 2561
สถานะความเป็นผู้นำตลาด – SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อันดับเครดิตของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดย SCC มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับกลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์
ความผันผวนของธุรกิจ – อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการที่ SCC ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจเคมิคอลส์ ทั้งนี้ SCC มีอำนาจในการกำหนดราคาที่จำกัด เนื่องจากสินค้าหลักส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งถูกกำหนดราคาโดยอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC, 'A(tha)'/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ SCC ซึ่งสะท้อนจากขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่ามาก และมีการกระจายความเสี่ยงในหลากหลายธุรกิจ ทำให้ SCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC หนึ่งอันดับ แม้ว่าจะมีอัตราส่วนหนี้สินสูงกว่าเล็กน้อย
เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต 'AA+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, อันดับเครดิตโดยลำพัง 'aa-(tha)') ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม PTTGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCC
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้คงที่ในปี 2562 และเติบโตในอัตราร้อยละ 5-6 ต่อปี ในปี 2563-2564 โดยมาจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจแพคเกจจิ้งเป็นหลัก ในขณะที่รายได้จากธุรกิจเคมิคอลส์คาดว่าจะลดลงในปี 2562-2563
- EBITDA Margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 14-15 ในปี 2562-2564 (ปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 14)
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ในช่วงห้าปีข้างหน้า
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 40-50 ในปี 2562-2564 (ปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 50)
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต เว้นแต่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบของโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม
ปัจจัยลบ:
- สถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทฯ ที่อ่อนแอลง ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับสูงกว่า 2 เท่า อย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ดำเนินธุรกิจปกติโดยไม่มีการลงทุน หรือสูงกว่าระดับ 3 เท่า ในช่วงที่มีการลงทุนขยายธุรกิจ
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้: สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) จำนวนประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในระดับประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สภาพคล่องของ SCC ในช่วงสองปีข้างหน้ายังต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากภายนอกเนื่องจากแผนการใช้จ่ายลงทุนที่สูง อย่างไรก็ตาม SCC ได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงินสำหรับโครงการลงทุนหลักแล้ว
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 บริษัทฯ มีหนี้สินทั้งหมดจำนวน 2.2 แสนล้านบาท โดยร้อยละ 84 เป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ในสกุลเงินบาท และประมาณร้อยละ 30 ของหนี้สินทั้งหมดจะถึงกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า