กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายสมัคร ดอนนาปี อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เดินทางไป ยื่นหนังสือแจ้งคำกล่าวหานายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ในข้อกล่าวหาการปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตกรณีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณบุคลากร กว่า 109 ล้านบาท ไปเป็นงบเพาะชำกล้าไม้ กว่า 55 ล้านกล้า เมื่อครั้งนายธัญญา ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ โดยดำเนินการเมื่อวันที่ 11,20 ส.ค.2553 ซึ่งจะมีเวลาในการดำเนินงานเพียง 1 เดือนและไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ได้มีการเบิกเงินงบประมาณไปจนหมดสิ้น ทั้งๆ ที่ยังคงมีกิจกรรมในการดำเนินการอีกเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาได้มีการร้องเรียนไปถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด จึงขอให้ ป.ป.ช.เร่งรัดให้สอบ สวนเพื่อให้เกิดความกระจ่างรวมถึงกรณีอื่นด้วย
ต่อมานายสมัคร เปิดแถลงข่าวว่า ได้ไปยื่นหนังสือแจ้งคำกล่าวหานายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ในข้อกล่าวหาการปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตกรณีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณบุคลากร กว่า 109 ล้านบาท ไปเป็นงบเพาะชำกล้าไม้ โดยขอให้ ป.ป.ช.ตั้งกรรมการสอบสวน เพราะก่อนหน้านี้ไปร้องเรียนกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการสสอบสวนแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า และขอให้ตั้งสอบสวนกรณีการเลื่อนเงินเดือนให้เมียตัวเองคือนางพิสมัย เนติธรรมกุล นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ในอัตราร้อยละ 6 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดประจำปีงบประมาณ 2559 ครั้งที่ 1 รอบการประเมินเดือน ต.ค. 2558 - เดือน มี.ค. 2559 และพรรคพวกใกล้ชิดกว่า 10 ราย ซึ่งถือว่าไม่มีความเหมาะสมเพราะเงินที่กันไว้ 0.15 เปอร์เซ็นต์ นั้น มีเงื่อนไขกำหนดไว้ในประกาศกรมอุทยานฯ ข้อที่ 6 กล่าวคือต้องเพิ่มให้กับ 1.ข้าราชการดีเด่น 2.ผู้ปฎิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย 3.ผู้ที่ได้รับมอบหมายงานพิเศษจากอธิบดีซึ่งจะต้องมีผลงานดีเด่นปรากฎชัดด้วยและผู้ที่จะบริหารวงเงินนี้คืออธิบดีและรองอธิบดีเท่านั้น ไม่ใช่ ผอ.สำนัก ที่นายธัญญา กล่าวอ้าง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
นายสมัคร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีกรณีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกับ 5 อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ที่เป็นผู้ระวังชี้แนวเขตจนมีการออกโฉนดโดยมิชอบและที่ดินมีการเพิกถอนและ ยกเลิกคำขอออกโฉนดบางแปลง และมีเพื่อนร่วมรุ่นอธิบดีถูกสอบ 2 ใน 5 คน และในการไปตรวจสอบพื้นที่นั้น เจ้าหน้าที่ย่อมรู้อยู่แก่ใจแล้วว่า ที่ดินแปลงดังกล่าว อยู่ในเขตอุทยานฯ แต่กลับไม่ยอมตรวจยึดจับกุม และให้ความเห็นในทางบวกกับเจ้าหน้าที่ที่ดิน จนเกิดความเสียหายแก่อุทยานฯ เป็นมูลค่าสูงหลายพันล้านบาท อธิบดีกลับไม่เร่งรัดการสอบสวน และเรื่องต่าง ๆ ยังคงเงียหายไปทั้งที่เวลายาวนานเกือบ 4 ปีแล้ว อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. 27 มีนาคม 2561 ที่ระบุว่า กรณีมีเรื่องร้องเรียนทุจริต ให้กระทรวงดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้นพิจารณาดำเนินการทางวินัยหรือทางอาญาโดยเร็ว ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วัน และเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต