อาจารย์ใหญ่ : ครูผู้สอนวิชาแพทย์

ข่าวทั่วไป Tuesday February 19, 2008 11:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--
การอุทิศร่างกายฯ เป็นการ “ให้” ด้วยความสมัครใจ แพทย์ทุกคนเรียกผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาด้านการแพทย์ว่า “อาจารย์ใหญ่” (Cadaver) เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติที่ท่านเหล่านั้นได้อุทิศตนเองเป็นครูสอนนิสิตแพทย์หรือแพทย์ ให้เข้าใจถึงระบบกายวิภาคของมนุษย์ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนแพทย์ทุกสาขาต่อไป การที่ท่านเจ้าของร่างยอมสละสิ่งที่มีค่ามากที่สุด คือ ร่างกายของตนเป็น “อาจารย์ใหญ่” (Cadaver) เพื่อสอนแพทย์ให้เกิดความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ เป็นการสร้างประโยชน์ทางวิชาการด้านสาธารณสุขมากมาย อาทิ เพื่อใช้ในการศึกษามหกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานความรู้ที่สำคัญสำหรับการเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในอนาคต และส่งเสริมทักษะ การเรียนรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ ของแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศัลยแพทย์ทางระบบหลอดเลือดหัวใจ ศัลยแพทย์ทางสมองและระบบประสาทศัลยแพทย์ทางกระดูก รวมถึงเพื่อการศึกษาวิชาชีพสาธารณสุขอื่น ๆ ตลอดจนเพื่อเป็นครูแพทย์ในพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ อาจารย์ใหญ่ 1 ท่านเป็นครูสอนนิสิตแพทย์ ตั้งแต่ต้นปีจนจบปลายปีได้ 6 คน เมื่อนิสิตแพทย์ทั้ง 6 คนนี้เรียนจบไปเป็นแพทย์ เขาจะนำความรู้นี้ไปใช้รักษาผู้ป่วยได้อีกเป็นแสนคน ตราบชั่วชีวิตของการเป็นแพทย์จึงนับได้ว่า การอุทิศร่างกายฯ เพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นการทำกุศลครั้งสุดท้ายแห่งชีวิต แต่มากด้วยประโยชน์ ผู้อุทิศร่างกายเป็นผู้เสียสละ เพราะไม่มีผลตอบแทน นอกจากอานิสงส์แห่งการเป็น “ครูสอนวิชาแพทย์” เท่านั้น จนกระทั่งเมื่อนิสิตแพทย์หรือแพทย์ได้ศึกษาแล้ว โรงพยาบาลฯ จะจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ (เป็นกรณีพิเศษ) อย่างสมเกียรติ โดยโรงพยาบาลฯ จะติดต่อแจ้งให้ทายาทมาร่วมงานพิธีพระราชทานเพลิงศพอันยิ่งใหญ่และสมเกียรติกับการเสียสละนี้ด้วย ศัลยศาสตร์และกายวิภาคศาสตร์ เป็นวิชาที่อยู่เคียงคู่กันมาโดยตลอด ศัลยแพทย์ที่ดีจะต้องมีความรู้ ความชำนาญทางกายวิภาคศาสตร์อย่างดี และศัลยแพทย์ที่เก่งก็ต้องมีทักษะทางศัลยกรรมที่ดีด้วย ซึ่งทักษะทางศัลยกรรมนี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนหาประสบการณ์ กล่าวคือต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าศพเพื่อการศึกษา หรือ Dissect Cadaver ได้ทุกเวลาที่ต้องการ เพื่อเรียนรู้กายวิภาคที่สงสัย หากศัลยแพทย์สามารถทำ Surgical Dissection ใหม่ ที่ตนเองยังไม่เชี่ยวชาญจากศพที่จะใช้ผ่าหรือ Cadaver ก่อนการผ่าตัดจริงก็จะมีประโยชน์มาก เพราะสามารถทบทวนขั้นตอนการผ่าตัด เรียนรู้ถึงความเหนียว ความแข็งแรงของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของศพ เพื่อสามารถควบคุมน้ำหนักของเครื่องมือได้อย่างเหมาะสม และมีความมั่นใจในการผ่าตัดคนไข้จริงได้มากขึ้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาและอุปสรรคที่ศัลยแพทย์หลายท่านประสบคือ การผ่าศพเพื่อการศึกษานั้น ศพที่ใช้ผ่าจะไม่สดใหม่ หาศพที่ยังไม่ผ่านกระบวนการดองยากมาก และไม่สามารถรักษาสภาพไม่ให้เน่าในช่วงเวลาที่ทำการศึกษาได้ยาก ส่วน Cadaver ที่ผ่านการดองด้วยฟอร์มาลีนก็แข็งเกินกว่าที่จะทำการฝึกผ่าตัดและมีกลิ่นรุนแรงมาก เมื่อปลายปี พ.ศ.2540 ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ทำการทดลอง เรื่องการควบคุมคุณภาพ Cadaver เพื่อจะสามารถรักษาสภาพศพที่จะใช้ผ่าเพื่อการศึกษาไม่ให้เน่า ซึ่งสามารถควบคุมความอ่อนแข็งของเนื้อเยื่อได้ สีของชิ้นเนื้อจะคงสภาพใกล้เคียงสภาพเดิม ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการก่อตั้ง “ศูนย์ฝึกผ่าตัด” ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันแรกในเอเชียที่มีศักยภาพและประสบความสำเร็จในการเตรียม Cadaver ศูนย์ฝึกผ่าตัด เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งมาเพื่อให้บริการแก่ศัลยแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน ในการฝึกผ่าตัดให้เกิดความชำนาญก่อนที่จะนำไปผ่าตัดจริงกับผู้ป่วย จึงช่วยลดอัตราการเสี่ยงต่อผู้ป่วยได้ ในปัจจุบันศูนย์ฝึกผ่าตัดได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มีผู้สนใจติดต่อขอจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น สำหรับปี 2551 สภากาชาดไทย โดย ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ (เป็นกรณีพิเศษ) อย่างสมเกียรติ ผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2550 ในวันที่ 15 — 16 มีนาคม 2551 ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร เพื่อแสดงความกตัญญูและเชิดชูเกียรติอาจารย์ใหญ่ให้ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไป สำหรับท่านที่สนใจและมีจิตศรัทธาจะร่วมบริจาคเงินเข้าร่วม “กองทุนอาจารย์ใหญ่เพื่อการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข” สามารถโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี กองทุนสภากาชาดไทย เพื่อการบริจาค เลขที่บัญชี 0452 88000-6 โดยระบุชื่อบัญชี “เงินฝากเพื่อพัฒนาอาจารย์ใหญ่เพื่อการศึกษาด้านการแพทย์” หมายเลขบัญชี 430 0071 ซึ่งเงินที่บริจาคนี้สามารถนำใบเสร็จรับเงินไปลดหย่อนภาษีได้ และท่านที่มีความประสงค์จะอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา สามารถขอแบบฟอร์มแสดงความจำนงอุทิศร่างกายฯ ได้ที่ ศาลาทินทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330 ตั้งแต่เวลา 08.30 — 16.00 น. โดยเตรียมเอกสาร รูปถ่ายขนาด 1 หรือ 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป และสำเนาบัตรประจำตัว จำนวน 1 ชุด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทรศัพท์ 02-2564628 และ 02-2527028 (ในวันและเวลาราชการ) “มีส่วนร่วมผลิตแพทย์สู่มวลชน เป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ