กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับโลก ที่มีเป้าหมายในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน จัดเวทีเสวนาเปิดตัวความร่วมมือขึ้นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย ณ โรงแรม W Hotel เมื่อเร็วๆ นี้
จากรูป ซ้ายไปขวา: ที่น่า รอวิค ผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (ระดับนานาชาติ) ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี, เครก บุคเฮิลส์, จิม ซี วอร์ด รองประธานบริหารด้านความยั่งยืน เทคโนโลยี และกิจการร่วมค้า บริษัท ลีอองเดลบาเซิล, ชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี, อองตวน กรอนจ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการรีไซเคิลและการฟื้นฟู บริษัทสุเอซ เอเชีย, จอน เพนไรซ์ ประธานบริษัท ดาว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, เบรนเดน เอดเจอร์ตัน ผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
บริษัทชั้นนำระดับโลกตั้งแต่ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ไปจนถึงผู้ประกอบการพลาสติก ร่วมจัดเวทีเสวนาเปิดตัวความร่วมมือ "Alliance to End Plastic Waste" (AEPW) ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย มุ่งเน้นการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทร
นายจิม ซีวอร์ด รองประธานบริหารด้านความยั่งยืน เทคโนโลยี และกิจการร่วมค้า บริษัท ลีอองเดลบาเซิล ตัวแทนจาก AEPW กล่าวว่า "ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วโลกในปัจจุบัน จึงอยากเชิญชวนให้บริษัทเล็กใหญ่จากทุกภูมิภาคและทุกประเภทธุรกิจมาเข้าร่วมองค์กรของเรา เราเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง ซึ่งความพยายามร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนจะช่วยให้เกิดหนทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและเห็นผลได้จริงอย่างแน่นอน"
ปัจจุบัน AEPW ประกอบไปด้วยสมาชิก 40 บริษัท ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในหลายภูมิภาค ได้แก่ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย ซึ่งหลายบริษัทมีสำนักงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ทั้งนี้ AEPW ได้ร่วมสนับสนุนโดยมอบเงินทุนเกือบพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปี เพื่อพัฒนาแนวทางการการลดปริมาณและจัดการขยะพลาสติก รวมถึงส่งเสริมวิธีการจัดการหลังการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาวิกฤติจากขยะพลาสติก
นายเบรนเดน เอดเจอร์ตัน ผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า "แม้ว่าพลาสติกจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ผู้คนทั่วโลกในหลายๆ ด้าน อาทิ การช่วยพัฒนามาตรฐานความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ทั้งในด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และความยั่งยืน แต่ขยะพลาสติกที่ปราศจากการจัดการอย่างถูกวิธีจะกลายเป็นปัญหาระดับโลก เราจึงได้ร่วมมือกันเพื่อสานความฝัน โลกไร้ขยะพลาสติก ให้เป็นจริง"
AEPW เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งจากการรวมตัวของกลุ่มบริษัทฯ ที่ผลิต ใช้ ขาย แปรรูป จัดเก็บ และรีไซเคิลพลาสติก ซึ่งรวมถึงบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และผู้ประกอบการพลาสติก บริษัทผลิตสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค บริษัทผู้ค้าปลีก บริษัทแปรรูปสินค้า และบริษัทจัดการขยะ ซึ่งทำงานร่วมกันเป็นเครือห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติก และทาง AEPW ก็ได้ร่วมกับสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง และวางแผนเชิงกลยุทธ์ร่วมกัน
กลยุทธิ์ของ AEPW มีกระบวนการการดำเนินงานอยู่บนรากฐาน 4 ด้านด้วยกัน คือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและความมีส่วนร่วม และการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ในปัจจุบัน AEPW ได้ให้ความสำคัญในการริเริ่มโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการจัดการขยะพลาสติก เช่น การทำงานร่วมกับเมืองต่าง ๆ เพื่อวางแผนการจัดการแบบระบบบูรณาการในเขตเมืองใหญ่ที่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมเทคโนโลยีรวมถึงรูปแบบธุรกิจที่ป้องกันการเกิดขยะพลาสติกในมหาสมุทร การพัฒนาฐานข้อมูลแบบเปิดเกี่ยวกับแหล่งที่มา สถานที่ที่พบ และรูปแบบของขยะพลาสติก เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับโครงการจัดการขยะพลาสติก การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรและภาครัฐเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการมอบเงินลงทุนและการมีส่วนร่วมในการเก็บขยะพลาสติกก่อนลงสู่มหาสมุทร
"เราพบว่าขยะพลาสติกร้อยละ 60 ในมหาสมุทรมีต้นกำเนิดมาจาก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเราเห็นตรงกันว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยต้องมีผู้นำที่มีความแข็งแกร่ง" นายชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวเสริม "เรามีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จมากมาย โครงการนำร่องการจัดการขยะตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนวียน และการร่วมมือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหากับหลายภาคส่วน ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาหุ่นยนต์เก็บขยะลอยน้ำ 4.0 (Smart Litter Trap 4.0)"
อองตวน กรอนจ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการรีไซเคิลและการฟื้นฟู บริษัทสุเอซ เอเชีย กล่าวว่า "ในขณะที่ AEPW เป็นความร่วมมือในระดับโลก เราก็สามารถสร้างผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยการมุ่งความสำคัญไปยังบริเวณที่มีความท้าทายมากอย่างเช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีขยะพลาสติกเกินกว่าครึ่งของจำนวนขยะบนโลก รวมถึงการเผยแพร่แนวทางแก้ไขและวิธีการจัดการที่ได้ผลที่สุด เพื่อให้ความร่วมมือนี้สามารถขยายผลอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในทุกมุมโลก"
ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความท้าทายระดับโลกนี้ รัฐบาลไทยจึงได้ริเริ่มปฎิบัติการเชิงรุก เช่น การขับเคลื่อนนโยบาล ลด ละ เลิกการใช้ขยะพลาสติกสำหรับปี 2561 – 2573 โดยตั้งเป้าเลิกใช้พลาสติกที่บางกว่า 36 ไมครอน รวมถึงใยสังเคราะห์ (Styrofoam) กล่องอาหารพลาสติก หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติกใช้แล้วทิ้งภายในปี 2565 และตั้งเป้าลดขยะพลาสติกในมหาสมุทรในประเทศไทยให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2570[1]
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management - Thailand PPP Plastic) ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 15 บริษัททั้งหน่วยงานจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทุกภาคส่วน ที่ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในน่านน้ำไทย โดยยึดวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาเป็นวันเริ่มดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นทางการ
"ในปี 2553 ประเทศไทยติดอันดับ 6 ประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก แต่ความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะช่วยให้เราสามารถร่างต้นแบบแก้ไขปัญหาขยะของประเทศไทยอย่างยั่งยืน และยังสามารถต่อยอดแนวทางการแก้ไขปัญหาไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" นายจอน เพนไรซ์ ประธานบริษัท ดาว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว
รายชื่อบริษัทสมาชิก AEPW ได้แก่ : บีเอเอสเอฟ, เบอร์รี่ โกลบอล, บราสเคม, เชฟรอน ฟิลลิปส์ เคมิคอล จำกัด, คลาเรียนท์, โคเวสโตร, ดาว, ดีเอสเอ็ม, เอ็กซอนโมบิล, บริษัท ฟอร์โมซ่า พลาสติก สหรัฐอเมริกา, เฮงเค็ล, ลีอองเดลบาเซิล, มิซูบิชิ เคมิคอล โฮลดิงส์, มิซูอิ เคมิคอล, โนวา เคมิคอลส์, อ็อกซี่เคม, โพลี่วัน, พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล, รีไลอันซ์ อินดัสทรีส์, ซาบิก, ซาซอล, สุเอซ, เชลล์, ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี, มิซูโตโม เคมีคอล, โททอล, วีโอเลีย, เวอร์ซาลีส์ (เครืออีเอ็นไอ), บริษัท อีเควต ปิโตรเคมี, บริษัท เจมินี่ คอร์ปอเรชั่น, กรุ๊ปโป โฟนิกส, มอนดิ, โนโวเล็คซ์, บริษัท เป๊ปซี่โค, ซีลด์แอร์ คอร์ปอเรท, บริษัท ซีโนแพ็ค, บริษัท เอสเคซี จำกัด, สโตรโรแพค, ทอมรา, และ บริษัท เวสเลค เคมิคอล
สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.endplasticwaste.org
[1] [1] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1639860/thais-plan-to-cut-sea-debris-by-50-