กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "ปิดผับตี 4" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 – 27 สิงหาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,257หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับแนวคิดที่จะขยายเวลาปิดสถานบันเทิง เฉพาะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต พัทยา เป็นต้น จากเวลา 02.00 น. ออกไปเป็นเวลา 04.00 น. การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" วิธีสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงการไปเที่ยวสถานบันเทิงในยามค่ำคืนของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.94 ระบุว่า ไม่เคยไป ขณะที่ ร้อยละ 39.06 ระบุว่า เคยไป
ซึ่งเมื่อถามผู้ที่เคยไปถึงความถี่ในการเที่ยวสถานบันเทิงยามค่ำคืน ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.07 ระบุว่า มีบ้างแล้วแต่โอกาส/เทศกาล รองลงมา ร้อยละ 32.79 ระบุว่า ไม่ได้ไปเลย ร้อยละ 12.83 ระบุว่า เดือนละครั้ง ร้อยละ 4.48 ระบุว่า อาทิตย์ละวัน ร้อยละ 1.63 ระบุว่า เกือบทุกวัน (3 – 5 วัน/สัปดาห์) และร้อยละ 0.20 ระบุว่า ทุกวัน (7 วัน/สัปดาห์)
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดที่จะขยายเวลาปิดสถานบันเทิง เฉพาะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต พัทยา เป็นต้น จากเวลา 02.00 น. ออกไปเป็นเวลา 04.00 น. พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.36 ระบุว่า ปิดสถานบันเทิง เวลา 02.00 น. เหมาะสมดีอยู่แล้ว เพราะ ไม่ดึกจนเกินไป เพื่อจะได้ไม่รบกวนเวลาพักผ่อนของคนที่พักอาศัยใกล้กับสถานบันเทิง และผู้ที่ประกอบอาชีพ ในตอนเช้า และการขยายเวลาออกไปก็ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น อาจก่อให้เกิดอาชญากรรมและอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า ควรให้การสนับสนุนในด้านอื่นน่าจะดีกว่า รองลงมา ร้อยละ 27.84 ระบุว่า ควรอนุญาตให้ปิดสถานบันเทิง เวลา 04.00 น. เฉพาะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต พัทยา เพราะ เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาประเทศมากขึ้น สามารถทำให้เกิดเงินหมุนเวียน เศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้น สถานบันเทิงจะได้มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวมีเวลาเที่ยวได้อย่างเต็มที่ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ควรมีการแบ่งโซนให้เหมาะสม มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ร้อยละ 7.88 ระบุว่า ไม่ควรอนุญาตให้มีสถานบันเทิง ยามค่ำคืนในประเทศไทย เพราะ เพื่อลดการเกิดปัญหาอาชญากรรม ลดอุบัติเหตุ และจะได้ไม่เกิดเสียงดังรบกวนการพักผ่อนในยามค่ำคืน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ชอบเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ร้อยละ 6.92 ระบุว่า ควรอนุญาตให้ปิดสถานบันเทิง เวลา 04.00 น. เหมือนกันทั่วประเทศ เพราะ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นการเพิ่มช่วงเวลาในการหารายได้ให้กับคนขับแท็กซี่ ร้อยละ 6.84 ระบุว่า ควรปิดสถานบันเทิง ก่อนเวลา 02.00 น. เพราะ เป็นเวลาที่ค่อนข้างดึกเกินไป อาจทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ปัญหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุได้ง่าย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ควรให้การสนับสนุนในด้านอื่นน่าจะดีกว่า ร้อยละ 6.60 ระบุว่า ไม่ทราบ/ ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.56 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ควรปิดสถานบันเทิง เวลา 03.00 น. เพราะ คิดว่าน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดไม่ช้าเกินไป
โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าเคยไปสถานบันเทิง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.92 ระบุว่า ควรอนุญาตให้ปิดสถานบันเทิง เวลา 04.00 น. เฉพาะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต พัทยา รองลงมา ร้อยละ 39.72 ระบุว่า ปิดสถานบันเทิง เวลา 02.00 น. เหมาะสมดี อยู่แล้ว ร้อยละ 9.57 ระบุว่า ควรจะอนุญาตปิดสถานบันเทิง เวลา 04.00 น. เหมือนกันทั่วประเทศ ร้อยละ 5.09 ระบุว่า ควรปิดสถานบันเทิง ก่อนเวลา 02.00 น. ร้อยละ 3.05 ระบุว่า ไม่ควรอนุญาตให้มีสถานบันเทิงยามค่ำคืนในประเทศไทย ร้อยละ 2.04 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.61 ระบุอื่น ๆ ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่เคยไปสถานบันเทิง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.69 ระบุว่า ปิดสถานบันเทิง เวลา 02.00 น. เหมาะสมดีอยู่แล้ว รองลงมา ร้อยละ 20.11 ระบุว่า ควรอนุญาตให้ปิดสถานบันเทิง เวลา 04.00 น. เฉพาะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต พัทยา ร้อยละ 10.97 ระบุว่า ไม่ควรอนุญาตให้มีสถานบันเทิงยามค่ำคืนในประเทศไทย ร้อยละ 7.96 ระบุว่า ควรปิดสถานบันเทิง ก่อนเวลา 02.00 น. ร้อยละ 5.22 ระบุว่า ควรจะอนุญาตปิดสถานบันเทิง เวลา 04.00 น. เหมือนกันทั่วประเทศ ร้อยละ 9.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.52 ระบุอื่น ๆ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความมั่นใจของประชาชนต่อการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงในเมืองท่องเที่ยว ว่าจะช่วยพยุงรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.39 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย รองลงมา ร้อยละ 27.76 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ ร้อยละ 16.39 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ ร้อยละ 14.64 ระบุว่า มั่นใจมาก และร้อยละ 3.82 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าเคยไปสถานบันเทิง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.22 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย รองลงมา ร้อยละ 27.49 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ ร้อยละ 20.57 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ ร้อยละ 16.90 ระบุว่า มั่นใจมาก และร้อยละ 0.82 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่เคยไปสถานบันเทิง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.43 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย รองลงมา ร้อยละ 27.94 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ ร้อยละ 13.71 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ ร้อยละ 13.19 ระบุว่า มั่นใจมาก และร้อยละ 5.73 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.75 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.86 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.22 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.65 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 55.37 เป็นเพศชาย และร้อยละ 44.63 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 7.00 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 16.31 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.82 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 30.47 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 21.40 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.35 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.66 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.03 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.96 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 21.56 สถานภาพโสด ร้อยละ 72.00 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.13 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.31 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 27.45 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.95 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.95 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.25 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.89 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.51 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 10.98 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.43 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.91 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.64 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.83 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.91 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.47 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.83 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 14.96 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.93 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.46 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.13 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.27 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 12.81 ไม่ระบุรายได้