กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย)
Sea (Group) ผู้ให้บริการอินเตอร์เนตชั้นนำใน 7 ตลาดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และแอร์เพย์ (AirPay) จับมือสภาเศรษฐกิจโลก หรือ the World Economic Forum (WEF) เผยผลสำรวจทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) แห่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) ผลสำรวจสอบถามเยาวชนอายุ 15-35 ปี จากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 56,000 คน บนอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำจาก Sea (Group) ได้แก่ การีนา และ ช้อปปี้ วัตถุประสงค์ของการทำผลสำรวจดังกล่าว เพื่อประเมินและเผยความคิดเห็นของเยาวชนที่มีต่อทักษะปัจจุบันอาทิ ความรู้พื้นฐานด้าน STEM ไปจนถึงทักษะที่จำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาให้ตอบรับกับตลาดแรงงานและการแข่งขันบนเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา
Sea (Group) เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่มีพันธสัญญาร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก ในการสร้างทักษะด้านดิจิทัลภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโครงการ "ASEAN Digital Skills Vision 2020" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและกลุ่มบริษัทเอกชน ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อฝึกฝน พัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่แรงงาน 20 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี พ.ศ. 2563 ในช่วง 8 เดือนแรกตั้งแต่ริเริ่มโครงการ "ASEAN Digital Skills Vision 2020" โครงการได้ดำเนินการอบรมบุคลากรในภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 8.9 ล้านคน รวมถึงจัดหาตำแหน่งฝึกงานให้กับแรงงานแล้วกว่า 30,000 คน
เศรษฐกิจดิจิทัลในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
เศรษฐกิจดิจิทัล ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลทั่วโลกให้ความสนใจ รายงานจาก กูเกิลและเทมาเส็ก (Google & Tamasek) คาดว่า ยอดมูลค่าสินค้ารวม(Gross Merchandise Value : GMV) ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นเป็น 240 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025 จาก 72 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2018 ที่สำคัญ เศรษฐกิจดิจิทัลถูกขับเคลื่อนด้วยอินเตอร์เนตและแพลตฟอร์มต่างๆ อันเป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการต่อยอดและผสมผสานของเทคโนโลยีหลายด้านที่ได้เกิดขึ้นในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เทคโนโลยีดังกล่าว ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และ อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จึงเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นบนวิธีการทำงาน อาชีพ ทักษะที่ใช้ และวิถีชีวิตของคนในสังคม ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้และความใจถึงศักยภาพและผลกระทบของเทคโนโลยีก่อนจะมีการพัฒนาหรือนำเทคโนโลยีไปใช้จริง จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการรับมือกับปรากฏการณ์ดังกล่าว
พัฒนาขีดความสามารถและ "ทักษะดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์" เตรียมพร้อมสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
จากผลสำรวจทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในเศรษฐกิจดิจิทัลที่ Sea (Group) ร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก สอบถามเยาวชนอายุ 15-35 ปี จากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 56,000 คน บนอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำจาก Sea (Group) ได้แก่ การีนา และช้อปปี้ พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่เข้าใจถึงความท้าทายของยุค4.0 และความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดย เยาวชน 52 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าพวกเขาต้องหมั่นพัฒนาทักษะด้านต่างๆตลอดเวลา เพื่อให้ประสบความสำเร็จในตลาดแรงงานในอนาคต ในขณะที่เพียง19% คิดว่าทักษะที่เขามีในปัจจุบันจะเพียงพอสำหรับตลาดแรงงานไปตลอดชีวิต ที่น่าสนใจคือเมื่อให้เรียงลำดับความสำคัญของทักษะแห่งอนาคตเยาวชนผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม จัดอันดับให้ความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพเชิงนวัตกรรม เป็นทักษะที่สำคัญอันดับหนึ่งที่ต้องมีในอนาคต ตามมาด้วยความสามารถก้านภาษา มากกว่าความรู้พื้นฐานด้าน STEM ที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ นอกจากนี้
นอกจากนี้ ผลสำรวจรายงานว่า ความต้องการในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ กลายเป็นสาเหตุสำคัญสำหรับเยาวชน ในการย้ายและเปลี่ยนงาน มากกว่ารายได้ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า 81 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนยังให้ความเห็นว่า การฝึกงานแบบได้ลงมือทำจริง สำคัญกว่าการศึกษาพื้นฐานแบบปัจจุบัน และอีกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนยังแสดงความต้องการที่จะทำงานในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็น อีกด้วย
นอกจากมุมมองของเยาวชนที่มีต่อทักษะในอนาคต ผลการสำรวจยังรวบรวมมุมมองเกี่ยวกับการทำงาน และความคาดหวังต่อการทำงานในอนาคตของเยาวชนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลสำรวจพบว่า เยาวชนมีความต้องการเป็นผู้ประกอบการสูง อย่างเช่น บนธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ โดยมีเยาวชนถึง 33 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกัน เยาวชนกลับลดความสนใจในการทำงานภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ที่แสดงความต้องการในการทำงานกับภาคดังกล่าว ปัจจัยสำคัญของความนิยมที่น้อยลงต่อภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาจากโอกาสในการพัฒนาทักษะการทำงานที่น้อยกว่าองค์กรขนาดใหญ่ เมื่อถูกถามถึงภาคส่วนธุรกิจที่อยากร่วมงานมากด้วยที่สุด เยาวชนเลือกภาคเทคโนโลยีมากที่สุด โดยมี 7 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนที่ร่วมทำผลสำรวจ ทำงานอยู่ในภาคเทคโนโลยีแล้ว และอีก 16 เปอร์เซ็นต์ต้องการร่วมงานกับภาคเทคโนโลยีในอนาคต
ดร. สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist แห่ง Sea (Group) กล่าว "ในขณะที่ธุรกิจของ Sea (Group) มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งบน การีนา ช้อปปี้ และแอร์เพย์ Sea มุ่งเน้นเป็นองค์กรที่เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเยาวชน และบุคลากรให้มีทักษะดิจิทัล และทัศนคติพร้อมรับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ในระดับองค์กร เราเน้นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับบุคลากร ในระดับสังคมและระดับภูมิภาค เราเน้นการสร้างทั้ง "ความกว้าง" และ เพิ่ม" ความลึก" ให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงพื้นฐานการใช้เทคโนโลยี ในครั้งนี้ เราจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับสภาเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง สำหรับการจัดทำผลสำรวจของเยาวชนทั้งภูมิภาค บนอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำจาก Sea (Group) ได้แก่ การีนา และ ช้อปปี้ สะท้อนให้เห็นว่า เราและสภาเศรษฐกิจโลกมีอุดมการณ์และเป้าหมายเดียวกัน ในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะดิจิทัล โดยเฉพาะทักษะด้าน 'Soft Skill' ที่สำคัญต่อภาคเทคโนโลยี เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะเชิงวิพากษ์ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำในยุคดิจิทัล ที่มีความสำคัญไม่แพ้ทักษะ 'Hard Skill' เช่น การโค้ดดิ้ง และความรู้พื้นฐานด้าน STEM ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์"
นายจัสติน วู้ด หัวหน้าฝ่ายเอเชียแปซิฟิก และสมาชิกคณะกรรมการบริหารของสภาเศรษฐกิจโลก กล่าวว่า "ในอนาคต ยากที่จะคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นบนโลกของเทคโนโลยีบ้าง แต่ที่สำคัญคือ วิถีชีวิต การดำเนินธุรกิจและการทำงานจะถูก 'disrupt' ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงถือเป็นความจำเป็นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องสร้างความตระหนัก รู้เท่าทันเทคโนโลยีให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีต่อแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพในภูมิภาค ต้องหารือกันถึงแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือ ปลูกฝังและนำเยาวชนของภูมิภาคสู่การเรียนรู้ในยุคใหม่ ที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา"
ภายใต้ความร่วมมือกับสภาเศรษฐกิจโลก Sea (Group) จะเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลแห่งอนาคตให้คนรุ่นใหม่ กระจายความรู้และการเข้าถึงทักษะดิจิทัลอย่างทั่วถึงสำหรับคนทุกรุ่น และเชื่อมโยงแต่ละภาคส่วนภายในอุตสาหกรรม อาทิ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และ ภาคนโยบาย เป็นการลดช่องว่างระหว่างภาควิชาการและการปฏิบัติจริง ปัจจุบัน Sea (Group) ได้ริเริ่มโครงการที่สอดคล้องกับพันธกิจดังกล่าวแล้ว อาทิ ยุทธศาสตร์ "10 in 10 Initiative" โครงการ 'Shopee Bootcamp' และ 'Sea Scholarship' เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่ตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล
เกี่ยวกับ Sea (ประเทศไทย)
Sea เป็นผู้นำในการให้บริการอินเทอร์เนตแพลตฟอร์มทางด้าน ดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ (Digital Entertainment) อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) และ บริการด้านการเงินแบบดิจิทัล (Digital Financial Services) กลุ่มบริษัทในเครือ Sea (ประเทศไทย) ประกอบด้วย บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และ ช้อปปี้ ประเทศไทย โดยพันธกิจของ Sea คือการทำให้ชีวิตของผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี นอกจากนี้ Sea ยังเป็นบริษัทที่ได้รับการจดทะเบียนในตลาดทุน NYSE โดยใช้สัญลักษณ์ SE สำหรับข่าวสารเกี่ยวกับ Sea (ประเทศไทย) ท่านสามารถเยี่ยมชมได้ที่ https://www.seathailand.com/