กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ชื่อผลงาน การประยุกต์ใช้นาโนไทเทเนียมร่วมกับรังสียูวี เพื่อพัฒนาเฉดสีของปีกแมลงทับในการทำเครื่องประดับไทย
คณะผู้จัดทำ โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
แนวคิดที่มา เครื่องประดับจากปีกแมลงทับ ถือเป็นหัตถกรรมที่มีมูลค่าแสดงถึงภูมิปัญญาของคนไทย ทั้งนี้ เฉดสีและคุณภาพของปีกมีผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานและมูลค่าของเครื่องประดับ โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของใช้นาโนไททาเนียมร่วมกับรังสียูวี เพื่อพัฒนาเฉดสีของปีกแมลงทับในการทำเครื่องประดับ โดยเปรียบเทียบคุณภาพของปีกแมลงทับที่แช่ในสารละลายนาโนไททาเนียมความเข้มข้นต่างๆ ได้แก่ 250, 500 และ 750 ppm ในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ 0.5 M ร่วมกับการนำไปวางเพื่อรับแสงยูวีด้วยเวลาต่างกันคือ 15, 30 และ 45 นาที พบว่าปีกแมลงทับที่แช่ในสารละลายนาโนไททาเนียม 500 ppm และได้รับรังสียูวีนาน 30 นาที มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากทำให้ปีกมีสีแดงทองมากที่สุดและมีค่าการทนต่อแรงกดสูง เหมาะที่จะนำไปทำเครื่องประดับมากที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อแช่ในสารละลายความเข้มข้นและได้รับรังสียูวีนานต่างกัน จะทำให้ได้เฉดสีของปีกที่แตกต่างกัน โครงงานนี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาเฉดสีของปีกแมลงทับเพื่อใช้ผลิตเครื่องประดับไทยให้ได้มาตรฐาน ทำให้อัญมณีจากธรรมชาตินี้เป็นมรดกทางภูมิปัญญาและสร้างรายได้แก่คนไทยต่อไป
รางวัลที่ได้รับ รางวัลถ้วยพระราชทาน ระดับมัธยมศึกษา หมวดนวัตกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น