กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันไทย – เยอรมัน ชี้ดีมานด์การใช้พลาสติกในประเทศไทยยังโตต่อเนื่อง โดยจากสถิติอัตราการเติบโตของการผลิตเม็ดพลาสติกในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 3.45% ต่อปี โดยปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 9 ล้านตัน เติบโตจากปีที่ผ่านมา 5.8% สาเหตุจากวัตถุดิบพลาสติกยังคงเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่สำคัญในด้านการผลิต เผยปัจจัยหนุนการเติบโตของความต้องการใช้พลาสติกมาจากกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ที่มีความต้องการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมจับมือผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของโลก นอกจากนี้ภาคเอกชน และภาครัฐหลายหน่วยงานเตรียมจัดงาน "ทีพลาส 2019" มหกรรมเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางพาราครั้งยิ่งใหญ่ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย - เยอรมัน กล่าวว่า จากสถิติอัตราการเติบโตของการผลิตเม็ดพลาสติกในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 3.45% ต่อปี โดยปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 9 ล้านตัน เติบโตจากปีที่ผ่านมา 5.8% แม้ว่าเกิดกระแสการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น และแนวโน้มการใช้พลาสติกในกลุ่มผู้บริโภคจะลดลง แต่ในภาคการผลิต พลาสติกยังคงเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่สำคัญสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลาย อาทิ ความยืดหยุ่นสูง น้ำหนักเบา ทนความร้อน ทนทานต่อสารเคมีบางชนิด ป้องกันการซึมผ่านของน้ำหรือไขมันได้ อีกทั้งต้นทุนที่ต่ำ ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถนำพลาสติกชนิดที่เหมาะสมมาปรับใช้กับธุรกิจได้
นายสมหวัง กล่าวเพิ่มว่า ปัจจัยสนับสนุนหลักในการเติบโตของปริมาณการใช้พลาสติก คือ กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตไปสู่การเป็นเศรษฐกิจใหม่ และมีโอกาสดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศเป็นตจำนวนมาก โดยตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่มีการนำพลาสติกไปเป็นส่วนประกอบการผลิตจำนวนมาก ในปี 2560 อาทิ
- อุตสาหกรรมยานยนต์ ปริมาณการผลิตอยู่ที่ 364 กิโลตันต่อปี หรือคิดเป็น 6.9% ของปริมาณการผลิตต่อปี มีมูลค่าการผลิต 97,203 ล้านบาท หรือ 13.0% ของมูลค่าการผลิตต่อปี ตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น ชิ้นส่วนตกแต่งภายนอกและภายในรถยนต์ แผงอุปกรณ์รถยนต์ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 838 กิโลตันต่อปี หรือคิดเป็น 15.9% ของปริมาณการผลิตต่อปี มีมูลค่าการผลิต 179,666 ล้านบาท หรือ 24.1% ของมูลค่าการผลิตต่อปี ตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิ้นส่วนพลาสติกในแผงควบคุมการทำงาน ปลั๊กไฟ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมการแพทย์ มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 51 กิโลตันต่อปี หรือคิดเป็น 1.0% ของปริมาณการผลิตต่อปี มีมูลค่าการผลิต 49,861 ล้านบาท หรือ 6.7% ของมูลค่าการผลิตต่อปี ตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกในอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น ถุงมือแพทย์ สายใส่ทางเดินอาหาร ชุดให้น้ำเกลือ เค่รื่องมือแพทย์ บรรจุภัณฑ์ยา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ความท้าทายของผู้ผลิตไทยคือการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมการผลิตที่ล้ำสมัย เพื่อที่จะส่งเสริมขีดความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการไทย สถาบันไทย – เยอรมัน จึงร่วมกับ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เตรียมจัดงาน ทีพลาส 2019" ที่สุดของมหกรรมเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางพาราครั้งยิ่งใหญ่ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยภายในงานรวบรวมเทคโนโลยีและโซลูชันสุดล้ำ จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก เพื่อส่งเสริมโอกาสผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ยกระดับอุตสาหกรรมปลายน้ำให้มีความเข็มแข็ง ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ นายสมหวัง กล่าวสรุป
ด้าน นางราตรี บุญสาย ผู้จัดการสาขา บริษัท อาร์เบอร์ก (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตพลาสติกอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ด้วยปริมาณการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมต่างๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อีกทั้งแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะเสิร์ฟเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตอันล้ำสมัย หนุนผู้ประกอบการไทยขานรับนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ ระดับสากล ในฐานะผู้ผลิตเครื่องอัดฉีดพลาสติก ซึ่งเป็นเครื่องจักรการผลิตพลาสติกที่สำคัญในห่วงโซ่การผลิต บริษัทเห็นความสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นวงจรซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิผล รวมทั้งประหยัดเวลาและทรัพยากร และพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทแฟคทอรี และมีศักยภาพในการแข่งขันกับอุตสาหกรรมระดับโลก
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตอันล้ำสมัย เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เตรียมจัดงาน ทีพลาส 2019" ที่สุดของมหกรรมเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางพาราครั้งยิ่งใหญ่ โดยภายในงานรวบรวมเทคโนโลยีและโซลูชันสุดล้ำ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์สมัยใหม่ วัสดุการผลิต ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป และระบบการจัดการเพื่ออุตสาหกรรมพลาสติกและยางพารา จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก รองรับโอกาสและการเติบโตสู่ฐานการผลิตหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"ทีพลาส 2019" มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ตลอดจนลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ www.t-plas.com