กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
รมช.พาณิชย์มอบกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นแม่งานนำทูตพาณิชย์กว่า 20 ประเทศลงพื้นที่ภาคอีสาน บูรณาการความร่วมมือกับพาณิชย์จังหวัด เดินหน้าเชื่อมโยงเครือข่ายดันสินค้าภูมิภาคสู่ตลาดโลก ประเดิมโคราชจังหวัดแรก 29-30 สิงหาคม ศกนี้ ลั่นต่อยอดพัฒนานครชัยบุรินทร์ ชี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ เชื่อมั่นช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานราก พร้อมเยี่ยมชมชุมชนด่านเกวียน ชุมชนอี - คอมเมิร์ซ ต้นแบบของประเทศไทย
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 29 – 30 สิงหาคม ศกนี้ จะมีการจัดกิจกรรมพาณิชย์สัญจรโดยตนจะเป็นหัวหน้าคณะนำผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์กว่า 20 ประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พาณิชย์จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางในการขยายตลาดร่วมกับภาคเกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs เพื่อผลักดันให้สินค้าเกษตร และสินค้าท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก้าวจากการเป็นสินค้าภูมิภาคไปสู่ตลาดโลก โดยมีสินค้าหลักได้แก่ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ข้าว มันสำปะหลัง และผลไม้
"การลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดจากการลงพื้นที่ครั้งก่อนที่ได้ลงไปหารือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าขายในพื้นที่กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ อันประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยได้คัดเลือกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจพื้นฐานของภาคอีสาน พร้อมกันนี้ยังเป็นจังหวัดนำร่องในการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ( Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว)มาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งโมเดลนี้ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงเศรษฐกิจยึดเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานราก" นายวีรศักดิ์กล่าว
"สำหรับกิจกรรมหลักในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้แก่ การให้คำแนะนำการเจาะตลาดเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยทูตพาณิชย์ ว่าสินค้าใดบ้างที่มีศักยภาพในการเข้าไปเจาะตลาดในประเทศต่างๆ รวมถึงแนวทางและวิธีการในการเจาะตลาดแต่ละประเทศ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ การอัพเดทเทรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ และแนวโน้มตลาดของสินค้าแต่ละประเภท นอกจากนี้ยังจะมีการแนะนำ "การดีไซน์"โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้เรียนรู้ภาพรวมการตลาด แนวโน้ม และทิศทางตลาด เพื่อบุกเข้าสู่ตลาดโลก ถือเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้ประกอบการ และถือเป็นการหาช่องทางตลาดส่งออกใหม่ๆให้กับสินค้าของไทย ขณะเดียวกัน ในงานยังจะมีสัมมนาสินค้าเกษตรแปรรูปสู่ตลาดโลก โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าเกษตรและอาหาร กิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ รวมถึงให้บริการข้อมูลคำปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้ง กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับชุมชน จำนวน 4 สินค้า ได้แก่ ไวน์เขาใหญ่ ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน และกาแฟวังน้ำเขียว เป็นต้น"
นายวีรศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆแล้ว ตนก็จะเป็นหัวหน้าคณะนำผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหา และหาแนวทางการขยายตลาดร่วมกับภาคเกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs เช่น โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังครบวงจรสงวนวงศ์ และการเยี่ยมชมสินค้า GI ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เป็นต้น ซึ่งในส่วนของมันสำปะหลังกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตมันสำปะหลังเป็นมันเส้นสะอาด ยกระดับการผลิตมันเส้นให้มีคุณภาพดีตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งมันเส้นสะอาดของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งสูง อัตราแปรสภาพดี เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องทุกอุตสาหกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีราคาดีกว่ามันเส้นทั่วไป ซึ่งถ้าเกษตรกรหันมาแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาดมากขึ้นจะสามารถช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป ส่วนสินค้า GI เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนนั้นก็ได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งชุมชนด่านเกวียนคือชุมชนที่กระทรวงพาณิชย์ปั้นให้เป็นชุมชน อี -คอมเมิร์ซต้นแบบของประเทศ ภายใต้ชื่อ "สมาร์ทวิลเลจออนไลน์" ซึ่งเป็นการประยุกต์จากหมู่บ้านต้นแบบ หมู่บ้านเถาเป่า (Taobao Village Model) มาใช้กับผู้ประกอบการสินค้าโอทอปและสินค้าชุมชนของไทยที่มีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนเพื่อให้เกิดเป็นชุมชน อี-คอมเมิร์ซต้นแบบของประเทศไทย