กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กระทรงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำระบบแก้มลิงแก่งน้ำต้อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น พร้อมรับฟังบรรยายสรุปแนวทางการพัฒนาโครงการฯ ณ วัดสายราษฎร์บำรุง บ้านป่าเหลื่อม ต.ดอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่า โครงการพัฒนาแก่งน้ำต้อนเป็นโครงการแก้มลิงขนาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชี จากทั้งหมด 34 โครงการ ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2539 มีพื้นที่หนองประมาณ 6,196 ไร่ ความจุประมาณ7.431 ล้าน ลบ.ม.สภาพปัจจุบันตื้นเขิน ในช่วงฤดูน้ำหลากเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณรอบหนอง ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ จึงทำให้ชาวบ้าน 7 ตำบล 3 อำเภอ 33,877 คน พื้นที่การเกษตรโดยรอบกว่า 40,000 ไร่ ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตรกรมชลประทานจึงเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2543 วัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำช่วยเหลือสนับสนุนการเพาะปลูกในเขตพื้นที่การเกษตร สำหรับอุปโภค-บริโภค ช่วยกักเก็บน้ำจากลำน้ำชีเมื่อประสบปัญหาฤดูน้ำหลาก และเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพยชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยมีแผนงานก่อสร้างโครงการพัฒนาแก้มลิงแก่งน้ำต้อน(ระยะที่ 1) 4 ปี 2563-2566 รวมงบประมาณ 950 ล้านบาท หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก และการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ 40,000 ไร่รวมทั้งคาดว่าสามารถเพิ่มปริมาณการเก็บกักจากปัจจุบันมีปริมาณเพียง20 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้าน ลบ.ม.ได้
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีภารกิจดูแลเกษตรกร จึงได้มีการเน้นให้เตรียมมาตรการระยะยาว เพื่อช่วยเหลือ ประชาชน อาทิ การเก็บกักน้ำเพิ่มกรณีฝนตก ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วงได้ รวมถึงการขุดลอกแหล่งน้ำโดยต้องเตรียมหาพื้นที่เก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ทั้งอ่างขนาดเล็ก แก้มลิง เป็นต้น รวมถึงพื้นที่หลังเขื่อนให้สร้างฝายเพิ่มน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้ป่าสมบูรณ์ภายใน 1-2 ปี จะต้องเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด สำหรับพื้นที่ที่เสียหายไปแล้ว ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง เพื่อชดเชยและเยียวยาความเสียหาย พร้อมทั้งหามาตรการในการช่วยเหลือ อาทิ การปลูกพืชใช้น้ำน้อย
"จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงเวลานี้มีลมมรสุมพัดผ่าน ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้พื้นที่ที่ประสบภัยแล้งเริ่มผ่านวิกฤติไปได้แล้ว ขณะนี้จึงต้องมาดูว่าในแต่ละเขื่อนมีน้ำต้นทุนเท่าไรรวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กมีน้ำเก็บกักเพียงพอไว้ใช้ในหน้าแล้งหรือไม่ หากมีการเตรียมการและบริหารจัดการน้ำที่ดี เชื่อมั่นว่าจะมีน้ำเพียงพออุปโภค-บริโภค และการเกษตร"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว