กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในหลายภูมิภาค และการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวในทุกภูมิภาค อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงในหลายภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพร้อมด้วย นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในหลายภูมิภาค และการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวในทุกภูมิภาค อย่างไรก็ดียังต้องติดตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคและการลงทุนภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 9.5 และ 15.9 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น เลย และอุดรธานี เป็นต้น อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นบริโภคในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 49.7 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 50.1 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 8.5 และ 2.6 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู และชัยภูมิ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 1,557 ล้านบาท จากการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลในจังหวัดขอนแก่นเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวของคนไทยและคนต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกรฎาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 14.6 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 8.0 และ 27.0 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน และพิจิตร เป็นต้น อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นบริโภคในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.9 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 46.3 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฏาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 9.0 และ 5.6 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และน่าน เป็นต้น สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวของคนไทยและคนต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกรฎาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 11.1 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดอ่างทอง สระบุรี และชัยนาท เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 12.4 ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ในขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นบริโภคในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 49.1 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฏาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 12.4 และ 48.3 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดสระบุรี และอ่างทอง เป็นต้น สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวของคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 และ 6.3 ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกรฎาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 8.8 และ 7.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี และ สุพรรณบุรี เป็นต้น ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2562 หดตัวร้อยละ -10.9 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฏาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 21.7 ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 2,042.39 ล้านบาท จากการลงทุนเพิ่มในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกรฎาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 23.0 และ 3.6 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี นครนายก และสระแก้ว เป็นต้น ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2562 หดตัวร้อยละ -8.4 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฏาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 21.1 และ 15.2 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องหลังจากปัญหาหมอกควันคลี่คลายลง สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวของคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 และ 4.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 21 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 109.1 ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกรฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 7.6 และ 18.1 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และระนอง เป็นต้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นบริโภคในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.0 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 50.8 ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2562 หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฏาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดนครศรีธรรมราช และระนองเป็นต้น สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี โดยเฉพาะจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 11.8 และ 3.7 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมทรสาคร และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากไตรมาสก่อน สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนกรกฎาคม 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยเฉพาะจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค