กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดงานประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และพิธียกย่องเชิดชูเกียรติภาคีเครือข่ายดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ หอประชุมเล็ก และบริเวณทางเดินด้านหน้าหอประชุม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความมีอยู่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่าง ๆ กระตุ้นส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟู และปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติให้เกิดความยั่งยืน
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่ภาคีเครือข่ายดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนี้เป็นผลผลิตร่วมของคนในสังคม ที่เกิดจากการสั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อมา จนกลายเป็นองค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ แสดงถึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนในแต่ละพื้นที่ แนวคิดที่จะดำเนินงานด้านวัฒนธรรมให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ยั่งยืน และต่อเนื่องไปสู่อนุชนรุ่นหลัง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมมีแนวนโยบายส่งเสริมให้มรดกภูมิปัญญามีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น ๓ ด้าน ได้แก่ ๑.การผลักดันกลไกการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในระดับประเทศสู่ระดับนานาชาติ ๒.การส่งเสริม การสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นบัญชีแล้ว และ ๓.การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อให้นโยบายดังกล่าวเห็นผลเป็นรูปธรรม สภาวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงควรจัดทำแผนการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในชุมชนของตนร่วมกัน และต้องเร่งรัดการผลิตและพัฒนาบุคลากร นักวิชาการ ช่างพื้นบ้าน ช่างศิลปะไทย ช่างศิลปะชั้นสูง อาสาสมัคร และผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรม ให้สามารถสืบสานมรดกวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ เนื่องจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติหลายรายการ ขาดผู้สืบทอดและอยู่ในภาวะความเสี่ยงใกล้สูญหาย ซึ่งการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี ๒๕๖๒ จำนวน ๑๘ รายการนี้ ถือเป็นหนทางหนึ่งในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่ ทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญของประเทศในการประกาศความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่าง ๆ และในฐานะที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. ๒๐๐๓ จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งในการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศชาติ ให้ปรากฏในสังคมโลก เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นภาคีสมาชิก โดยกิจกรรมในงานแบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ในช่วงเช้า ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการแสดงภูมิปัญญาการเชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง ต่อด้วยการอภิปราย หัวข้อเรื่อง "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นำไปสู่ความยั่งยืน" โดยวิทยากรผู้แทนโครงการที่ได้รับรางวัลโครงการดีเด่นในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นฯ ประจำปี ๖๒ ต่อด้วยการแสดงดนตรีลีซู กลุ่มชาติพันธุ์ลีซู จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนในภาคบ่าย เวลา ๑๔.๐๐ น. เริ่มด้วยพิธีประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๑๘ รายการ ได้แก่ ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ๑)ตำนานเขาสาปยา จ.ชัยนาท ๒)ตำนานเมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ด้านศิลปะการแสดง ๓)โปงลาง จ.กาฬสินธุ์ ๔)กลองอืด จ.ตาก ๕)รำมอญ จ.ปทุมธานี ๖)รำตร๊ด จ.ศรีสะเกษ และ จ.สุรินทร์ ๗)ลำแมงตับเต่า ไทเลย จ.เลย ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล ๘)ประเพณีอัฐมีบูชา จ.นครปฐม และ จ.อุตรดิตถ์๙)โจลมะม้วต จ.สุรินทร์ ๑๐)ประเพณีแห่นางดาน จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ๑๑)ทุเรียนนนท์ จ.นนทบุรี ๑๒)ปลาสลิดบางบ่อ จ.สมุทรปราการ ด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม ๑๓)หม้อน้ำดินเผาเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ๑๔)งานปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชร จังหวัดเพชรบุรี ๑๕)ครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จ.นครราชสีมา ๑๖)ซิ่นหมี่คั่นน้อยไทหล่ม จ.เพชรบูรณ์ ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ๑๗) อิ้นกอนฟ้อนแคน จ.นครปฐม และ ๑๘)การแข่งขันว่าวดุ๊ยดุ่ย จังหวัดจันทบุรี
จากนั้น นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานมอบรางวัลภาคีเครือข่ายดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกอบด้วย ๑. ชุมชน/หน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกเป็นโครงการดีเด่นในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๑๐ แห่ง ๒. จังหวัดที่เสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ๒๐ จังหวัด ๓. เยาวชนต้นแบบด้านดนตรีไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๑๒ คน ๔. โรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๑๔ แห่ง ๕. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๗๖ แห่ง
นอกจากนี้ บริเวณทางเดินหน้าหอประชุมเล็ก และหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมฯ ยังมีนิทรรศการ การสาธิตและการแสดงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่หาชมได้ยากและควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง อาทิ ตำนานเขาสาปยา ตำนานเมืองลพบุรี ประเพณีอัฐมีบูชา โจลมะม้วต ประเพณีแห่นางดาน ซิ่นหมี่คั่นน้อยไทหล่ม อิ้นกอนฟ้อนแคน การแสดงมรดกภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดง เช่น โปงลาง กลองอืด รำมอญ รำตร๊ด และ ลำแมงตับเต่า เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th และติดตามความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ได้ทางแฟนเพจ https://www.facebook.com/DCP.culture/