กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมา พลิกโฉมบริการห้องจิตเวชฉุกเฉินแนวใหม่ ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมอันตราย ซึ่งพบได้บ่อยสุดถึงร้อยละ80 หรือปีละประมาณ 1,600 คน โดยใช้วาจาช่วยคลี่คลายเสริมกับมาตรฐานดูแลหลักทุกขั้นตอน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้ตัว ระบายความรู้สึกในใจออกมา ผลทดลองใช้ 6 เดือนพบว่าได้ผลดี ผู้ป่วยควบคุมตัวเองดีขึ้น ลดการจำกัดพฤติกรรมด้วยอุปกรณ์แบบครบสูตรลงได้ถึงร้อยละ 90 ทุกคนปลอดภัย เตรียมขยายผลใช้ในห้องจิตเวชฉุกเฉินรพ.ชุมชนเขตนครชัยบุรินทร์ปีหน้า
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ซึ่งเป็นรพ.เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้บริการผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชในระดับรุนแรง ซับซ้อน ในเขตสุขภาพที่ 9 หรือ 4 จังหวัดเขตนครชัยบุรินทร์ ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ตลอด 24 ชั่วโมง ได้เร่งปรับโฉมรพ.ทุกแผนกบริการให้เป็นมิตรกับผู้ป่วย ให้เกียรติและคงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามนโยบายของอธิบดีกรมสุขภาพจิต โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ห้องฉุกเฉินหรือห้องอีอาร์ ซึ่งเป็นด่านแรกที่จะให้บริการช่วยเหลือทางจิตใจอย่างเร่งด่วน มีผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 2,000 กว่าคน ที่พบบ่อยที่สุดคือพฤติกรรมก้าวร้าวพบได้ร้อยละ 80 หรือประมาณปีละ1,600 คน พบได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก มีทั้งก้าวร้าวทางคำพูด เช่น ด่าทอ ขู่ทำร้าย และทางการกระทำเช่น ชกลม กำหมัด ทำลายข้าวของ จะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลามถึงขั้นเกิดความรุนแรงเป็นอันตรายทั้งตัวเอง บุคคลอื่นและสิ่งของ จะเน้นดูแลให้เกิดความปลอดภัยในบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นมิตร เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับสู่ภาวะสงบและได้รับการฟื้นฟูด้านอื่นๆอย่างเหมาะสมโดยเร็ว
ทางด้านนางสมพร ธีรพัฒนพงศ์ พยาบาลจิตเวชหัวหน้าแผนกฉุกเฉิน รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า อาการก้าวร้าวของผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินนั้น เป็นพฤติกรรมที่ผู้ป่วยปลดปล่อย ขจัดหรือลดความโกรธ ความกังวลหรือความกลัวของตัวเองออกมา ในปี 2561 พบผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ทีมพยาบาลประจำห้องจิตเวชฉุกเฉินและแผนกผู้ป่วยนอก ได้ร่วมกันพัฒนามาตรฐานการดูแลแนวใหม่เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ โดยประยุกต์องค์ความรู้เรื่องการคืนสู่สุขภาวะ( Recovery model)ที่ใช้กับผู้ป่วยจิตเวชโดยเฉพาะ กล่าวคือได้นำการสื่อสารมาปรับใช้กับผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการก้าวร้าวที่ห้องฉุกเฉินเพื่อเสริมกับมาตรฐานการดูแลตามหลักการ 4 ย. ทุกขั้นตอน ซึ่งมี 4 ขั้นตอนได้แก่ การแยกผู้ป่วยและประเมินระดับความรุนแรง การยอมรับ การใช้ยาช่วยควบคุมพฤติกรรมตามมาตรฐาน และการใช้อุปกรณ์ผูกยึดกรณีที่ประเมินแล้วมีความจำเป็นเนื่องจากเสี่ยงเกิดอันตรายสูง เน้นดูแลช่วยเหลืออย่างเข้าใจ โดยใช้น้ำเสียงที่จริงใจ นุ่มนวลและสงบ เพื่อสร้างความเป็นมิตรให้ผู้ป่วยรับรู้พฤติกรรมของตนเอง รับรู้สถานที่ รับรู้ถึงความห่วงใยจากผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ป่วยระบายความรู้สึกออกมา ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น ช่วยผ่อนคลายความก้าวร้าวลง และให้ความร่วมมือในการรักษาดีขึ้น
นางสมพร กล่าวต่อว่า หลังจากเริ่มทดลองใช้ที่ห้องฉุกเฉิน เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 จนถึง เดือนมีนาคมพ.ศ.2562 ปรากฏว่า ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ จากการประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาใช้บริการทั้งหมด 1,926 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยก้าวร้าวจำนวน 1,540 คน พบว่า ผู้ป่วยควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น สามารถลดการจำกัดพฤติกรรมด้วยอุปกรณ์แบบครบสูตรได้ถึงร้อยละ 90 ทุกคนปลอดภัย ไม่มีรายใดเกิดปัญหาการบาดเจ็บ โดยมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่จำเป็นต้องจำกัดพฤติกรรมด้วยอุปกรณ์แบบครบสูตรคือทั้งที่ลำตัว แขนและขาทั้ง 2 ข้างเพื่อสร้างความปลอดภัยผู้ป่วย แพทย์สามารถให้การตรวจรักษาอาการได้ภายใน 28 นาที ส่วนบรรยากาศของห้องฉุกเฉินที่เคยมีเสียงดัง วุ่นวาย กลับสงบมากขึ้น ญาติพอใจสูงถึงร้อยละ 90
ทั้งนี้ผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินที่รับบริการที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 แพทย์จะรับตัวรักษาในโรงพยาบาล เพื่อดูแลควบคุมอาการให้สงบและฟื้นฟูทางด้านจิตใจอารมณ์ และสังคม อีกร้อยละ 10 มีอาการดีขึ้น สามารถกลับบ้านได้โดยมีระบบส่งต่อให้สถานพยาบาลใกล้บ้านดูแลต่อเนื่อง ที่เหลืออีกร้อยละ 10 ส่งรักษาต่อที่รพ.ฝ่ายกาย เนื่องจากผลการตรวจคัดกรองอาการพบว่าผิดปกติหรือเจ็บป่วยทางกาย เช่นระบบเกลือแร่ไม่สมดุล เป็นเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง เป็นต้น
นางสมพรกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ได้ขยายผลมาตรฐานการดูแลแนวใหม่นี้ให้แก่บุคลากรประจำแผนกผู้ป่วยนอกและห้องฉุกเฉินทุกคน และในปีงบประมาณ 2563 ที่จะถึงนี้ มีแผนขยายผลจัดอบรมพยาบาลจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อพัฒนามาตรฐานการบริการผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินที่มีอาการก้าวร้าวให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 4 จังหวัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ ป่วย เจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือ รวมทั้งชุมชนด้วย