กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- เรียนเพื่อรับบิ๊กเดต้า กับ DSI
- สร้างสรรค์พลังงานใหม่ เพื่ออุตสาหกรรมใหม่ กับ BEB
- ปั้นนักนวัตกรรมอาหาร สำหรับคนเก่งวิทย์ และเก่งชิมอร่อย กับ FIN
- เรียนบริหารผสานวิทยาศาสตร์ ต้นแบบการเรียน SCI+BUSINESS กับ ISC
เพราะโลกเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้วิทยาศาสตร์ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อโลกปัจจุบันและอนาคตอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการดำเนินชีวิต การงานอาชีพ ข้าวของเครื่องใช้รวมถึงผลผลิตต่าง ๆ ที่ล้วนแต่จะต้องมีหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอด ทำให้มนุษย์จำเป็นที่จะต้องคอยศึกษาค้นคว้าในเรื่องวิทยาศาสตร์ เพื่อมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีในปัจจุบันได้อย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้นได้ ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย ที่ล้วนมาช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์มากขึ้น อีกทั้งมีอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
แน่นอนว่าโลกของเราจะไม่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากไม่มีต้นทางที่สามารถผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ เราจึงได้เห็นทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว ออกมาตรการหรือนโยบายเพื่อมาตอบโจทย์และรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สถาบันการศึกษาที่มีเป้าหมายและความตั้งใจยิ่งเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการผลิต "นักวิทย์รุ่นใหม่" กล้าคิด-กล้าพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ปิดกั้นศักยภาพ ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการบริหารธุรกิจเข้าด้วยกันจนสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจหรืออาชีพที่ทำเงินได้ในอนาคต เล็งเห็นความสำคัญจึงได้เพิ่มเติม 3 หลักสูตรการเรียนสายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อย่อสุดเก๋ไก๋ ได้แก่ FIN, DSI, BEB และหลักสูตรต้นแบบการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ของคณะวิทย์ มธ. ที่มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า ISC ที่ทั้งหมดนี้จะมาตอบโจทย์ความต้องการของโลกอนาคต ตามหัวใจสำคัญของหลักสูตรก็คือการ "ผลิตบัณฑิต พร้อมใช้ สู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศ" นั่นเอง ขอบอกเลยว่าเรียนวิทย์ฯ ทั้ง 4 สายนี้ เรียนจบไปยังไงก็มีงานรองรับอย่างแน่นอน โดยหลักสูตรที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะน่าเรียนขนาดไหนไปชมกันเลย
เพราะโลกยุคดิจิทัลมีข้อมูลมากมายรอให้เราไปจัดการและใช้ประโยชน์ ดังนั้น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล (Data Science and Innovation Program) หรือเรียกสั้นๆ ว่า DSI จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยหัวใจสำคัญของหลักสูตรนี้ก็คือการสร้างบัณฑิตที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ข้อมูลที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดในยุคดิจิทัล
ผ่านเทคนิคทาง คณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ และ ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมจากข้อมูลสำหรับใช้ในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร โดยหลักสูตรนี้จะมีจัดการเรียนการสอนเป็นแบบ โมดูล (Modular Learning) ซึ่งภายในแต่ละโมดูล จะประกอบด้วยภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ที่ฝึกฝนผู้เรียนให้ได้ สมรรถนะ ตรงกับองค์กรจากภาคอุตสาหกรรมที่ร่วมออกแบบหลักสูตร ทุกโมดูลจะมี capstone project เพื่อแสดงเห็นพัฒนาการของผู้เรียนในแต่ละโมดูลอีกด้วยเป็นหลักสูตรที่บอกเลยว่าหากเรียนจบแล้ว สามารถไปประกอบอาชีพที่เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็น นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) นักวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analyst) วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) ตลอดจน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เป็นต้น
ต่อกันด้วย หลักสูตรเทคโนโลยี พลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ (Bioenergy and Biochemical Refinery Technology Program) หรือ BEBหลักสูตรนี้เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการใน 3 สาขาวิชา คือ เทคโนโลยีชีวภาพ เคมี และพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ เข้าไว้ด้วยกัน ที่สำคัญคือนักศึกษาที่เรียนสายนี้จะได้ไปฝึกประสบการณ์การทำงานกับสถานประกอบการจริงเป็นเวลา 1 ปีการศึกษาแบบอัดแน่นเต็ม ๆ เพื่อให้ได้ทักษะการแก้ปัญหาระหว่างกระบวนการผลิตในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสามารถไปทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปมากแค่ไหน อาหารยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ทุกคน ดังนั้น หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร (Food Science and Innovation Program) หรือเรียกง่ายๆ ว่า FIN จะมาช่วยตอบโจทย์สิ่งนี้ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในปัจจัยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารด้วยนวัตกรรม หากเลือกเรียนสายนี้จะได้เรียนรู้ความพร้อมที่จะเป็นนักนวัตกรรมอาหาร ที่มีความรู้ความชำนาญทางวิชาชีพ (Technical skills) ผ่านการฝึกฝนความชำนาญในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่ร่วมจัดการเรียนการสอน ควบคู่กับการฝึกฝนทักษะที่นอกเหนือจากวิชาชีพ (Soft skills) อีกทั้งยังได้เรียนรู้ด้านกระบวนการคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมอาหาร การวิเคราะห์ปัญหาทางอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาภาวะผู้นำ การใช้กระบวนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และการเรียนรู้ทักษะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจอาหารอีกด้วย
ปิดท้ายกันที่ หลักสูตรวิทยาศาสตรอุตสาหการและการจัดการหลักสูตรนานาชาติ (Industrial Science and Management International Program) หรือISC ต้นแบบของการเรียนแบบ SCI + Business ของคณะวิทย์ฯ มธ. อยากจะบอกว่าหลักสูตรนี้ ถือเป็นหลักสูตรนานาชาติเดียวในประเทศไทยที่หลอมรวมความรู้จากสายวิทย์และสายบริหารเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว เป็นหลักสูตรที่เข้มข้นทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจากสาขาวิทยาศาสตร์และถูกเติมเต็มความรู้ทางด้านการจัดการและการบริหาร พร้อมสร้างไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มุ่งเน้นสร้างนักคิดนักประดิษฐ์ ตลอดจนนักนวัตกรรมที่สามารถนำความรู้ที่มีอยู่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และการจัดการสร้างผลิตภัณฑ์จนพัฒนาสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญและสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ อีกทั้งยังสามารถทำงานในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นเทคโนโลยีชีวภาพ เคมีและเทคโนโลยีการอาหาร เรียกได้ว่าเรียนสายนี้มีความโดดเด่นทั้งวิชาชีพ ด้านการบริหารจัดการและภาวะผู้นำ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในการทำธุรกิจระดับสากล โดยผลงานล่าสุดของนักศึกษาจาก ISC "มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก"ได้รับรางวัลการันตีรางวัลเหรียญทองจากเวทีการประกวดและจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ "The 30th International Invention, Innovation and Technology Exhibition" (ITEX 2019) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย
เห็นไหมว่าเรียนวิทยาศาสตร์ก็สามารถไปประกอบได้หลากหลายอาชีพไม่แพ้การเรียนสายอื่นๆ เลย โดยน้องๆ คนไหนสนใจอยากเรียน 3 หลักสูตรสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงหลักสูตรต้นแบบการเรียน SCI+BUSINESS ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.ac.th และเฟสบุ๊คแฟนเพจwww.facebook.com/ScienceThammasat