กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--เอบีเอ็ม คอนเนค
ภาครัฐ-เอกชน เปิดเวทีประชุมวิชาการ ThaiTECT Annual Meeting ครั้งที่ 19 ร่วมผสานพลังนักวิจัยในระดับนานาชาติแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุ่งยกระดับการวิจัยทางคลินิก เร่งสร้างระบบนิเวศรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนวัตกรรม ตั้งเป้าผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง การวิจัยทางคลินิกในระดับภูมิภาค
การประชุมวิชาการ ThaiTECT Annual Meeting ครั้งที่ 19 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "Fostering Innovation through Life Sciences Research Ecosystem: Enhancing Collaborative Partnership"ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ซึ่งในปีนี้สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) เป็นแกนนำในการจัดการประชุม โดยได้รับความสนใจจากองค์กรภาครัฐ เอกชน และนักวิจัยชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 300 คน
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงนโยบายการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมว่า การสร้างแต้มต่อในการแข่งขันในระดับโลกจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อเนื่อง ดังนั้น การเตรียมประเทศให้พร้อมกับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาในองค์กรต่าง ๆ จึงเป็นภาระกิจกหลักที่เร่งด่วนของกระทรวงฯ ในการเตรียมบุคลากรให้พร้อมก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ที่โลกจะแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมและการวิจัย ด้วยการสนับสนุนให้มีการนำนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาประเทศในภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่เพียง แต่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีการเติบโตคู่ขนานกันไปอีกด้วย
ทั้งนี้ นวัตกรรมด้านสุขภาพถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่ต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ โดยกระทรวงฯ เล็งเห็นว่าการผสานความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยเฉพาะกับบริษัทในอุตสาหกรรมยา บริษัทอุปกรณ์ทางการแพทย์ และบริการทางการแพทย์ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ประธานเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยทางคลินิกเพื่อความเป็นเลิศ (ThaiTECT) กล่าวว่า การประชุมวิชาการ ThaiTECT Annual Meeting เป็นเวทีสำคัญในการกำหนดทิศทางและการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการวิจัยทางคลินิกในกลุ่มนักวิจัยระดับแถวหน้า ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันของนักวิจัย สมาคมผู้วิจัย และผลิตเภสัชภัณฑ์ สถาบันที่ทำการวิจัย คณะกรรมการจริยธรรมของสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย ภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข และภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการวางแผนการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research Roadmap) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) สำหรับอุตสาหกรรมยาที่สำคัญและมีศักยภาพสูงสุดของประเทศ เพื่อให้เราก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของการวิจัยทางคลินิกในระดับภูมิภาค
ด้าน ภญ. บุษกร เลิศวัฒนสิวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของการวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานวัตกรรม คือการได้มาซึ่งยาใหม่ ๆ ที่ใช้รักษาโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักของ PReMA ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนายาใหม่ ๆ โดยการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งสถาบันทางการแพทย์ ภาครัฐ และสมาชิกในภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการสาธารณสุขด้านการรักษาและยานวัตกรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
การสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานวัตกรรม นอกจากจะช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี ด้วยการป้องกันและลดอัตราการเจ็บป่วยของคนไทย อันนำไปสู่การสร้างสังคมคุณภาพ สร้างผลผลิต (productivity) ในระยะยาวได้อย่างมั่นคงแล้ว จากข้อมูลการศึกษาผลตอบแทนการลงทุนในการทำวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงส่วนเดียวของห่วงโซ่มูลค่าพบว่า ทุกเงินลงทุน 1 บาท จะได้ผลตอบแทนกลับคืนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 3 บาท นับเป็นประโยชน์ที่กลับสู่ระบบเศรษฐกิจที่คู่ขนานไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด
"การวิจัยทางคลินิกเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพ และการเติบโตของเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประตูสู่เอเชียและมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค ทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ซึ่งหากได้การสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมการวิจัยทางคลินิกจากภาครัฐ และการผสานความร่วมมือจากพันธมิตรที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถขยายงานด้านการวิจัยทางคลินิกต่อไปได้มากขึ้น นำไปสู่การมีระบบนิเวศที่มั่นคง ทำให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนวัตกรรมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง" ภญ.บุษกร กล่าวในที่สุด
เกี่ยวกับ ThaiTECT
Thailand Towards Excellence in Clinical Trail (ThaiTECT) จัดตั้งขึ้นจากกลุ่มของบุคคลากรที่มีส่วนร่วมในการวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย ประกอบด้วยคณะผู้วิจัย สถาบันทางการแพทย์ ศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะกรรมการพิจารณาจริยธรรม/คณะกรรมการ พิจารณาการวิจัยประจำสถาบัน แหล่งทุน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัยทางคลินิก ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่มีส่วนร่วมในการวิจัย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันงานวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศตามมาตรฐานสากล เพื่อดึงดูดการลงทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกำลังเริ่มพัฒนา