กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ความตึงเครียดจากสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐกับจีน เริ่มเห็นผลกระทบต่อประเทศไทยแล้ว โดยภาวะชะลอตัวจากภาคต่างประเทศเริ่มลุกลามมาในประเทศ ส่งผลให้ภาคการลงทุนเอกชนมีแนวโน้มที่จะติดลบในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะภาคการส่งออกมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง แต่จะไม่รุนแรงเท่าครึ่งแรกของปี เมื่อการส่งออกมีปัญหา จะเริ่มเห็นผู้ประกอบการปรับแผน โดยลดกำลังการผลิตลง และจะมีผลต่อการนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ เกิดภาวะ เงียบเหงา เมื่อภาคเอกชนชะลอการลงทุน จะส่งผลกระทบต่อมายังภาคการบริโภค การจ้างงานจะมีแนวโน้มลดลง ชั่วโมงการทำงานมีแนวโน้มถูกตัดมากขึ้น
"เราเชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐจะช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ย่ำแย่ไปมากกว่านี้ ผ่านการประคองการบริโภคระดับล่าง อย่างไรก็ดี สำนักวิจัยฯ มองว่านโยบายที่จะกระตุ้นภาคการลงทุนมีความจำเป็นอย่างมาก เราหวังจะได้เห็นแรงกระตุ้นภาคการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่นโยบายการเงินมีโอกาสจะได้เห็นมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม เราคาดการณ์ว่าทางการจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายภาคเอกชน อีกทั้งจะช่วยประคองผู้ส่งออก โดยกดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงด้วย" ดร.อมรเทพ กล่าว
ทั้งนี้ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 ลงจาก 3.3% (ที่ประมาณการไว้เดือนมิ.ย.62) เหลือ 2.8%
ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้จากภาวะปัจจุบัน เพราะแม้วันนี้ นักลงทุนจะให้น้ำหนักกับเฟดโดยเชื่อว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง แต่สำนักวิจัยฯมองสวนทางกับตลาด โดยมองว่าเฟดไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยมากขนาดนั้น มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 3 ครั้ง ซึ่งถ้าเฟดลดดอกเบี้ยเท่ากับที่สำนักวิจัยฯ คาดการณ์ ตลาดจะปรับปรุงมองการลงทุน โดยกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์มากขึ้น ผลคือ ค่าเงินบาทและค่าเงินภูมิภาคจะกลับมาอ่อนค่าลงได้เล็กน้อย คาดว่าค่าเงินบาทช่วงปลายปี จะอยู่ที่ 30.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
โดยสรุป ภาวะสงครามการค้ามีแนวโน้มจะลากยาวไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปีหน้า และตราบใดที่ทรัมป์ยังนั่งตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ความตึงเครียดของสหรัฐและจีนยังคงมีต่อเนื่อง ดังนั้น เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าและจะลามไปถึงปี 2563