กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เตรียมจัด "ทีพลาส 2019" มหกรรมเทรดแฟร์สุดยิ่งใหญ่ เสริมทัพนวัตกรรม – การผลิตแห่งอนาคต
สถาบันพลาสติกแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมไทยคอมโพสิท มั่นใจการเติบโตของอุตสาหกรรม "พลาสติก – ยาง" โดยปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 11.46 ล้านตัน และมีแนวโน้มขยายตัวเหนือจีดีพีประเทศเล็กน้อยที่ 3.9-4.0% ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางในปีที่ผ่านมาอยูที่ราว 5 ล้านตัน อย่างไรก็ตามด้าน "พลาสติกคอมโพสิท" มีแนวโน้มความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นมากถึง 10 เท่า โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ อากาศยาน ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบรางรถไฟฟ้า ฯลฯ นอกนี้เพื่อแสดงศักยภาพและความต้องการของตลาดที่ยังคงมีอีกมาก เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผู้จัดแสดงงานด้านอุตสาหกรรมได้เตรียมจัดงาน"ทีพลาส 2019" มหกรรมเทรดแฟร์สุดยิ่งใหญ่ด้าน "พลาสติก – ยาง" ที่ระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
นายคงศักดิ์ ดอกบัว รองผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตพลาสติกที่สำคัญของโลก โดยมีมูลค่าเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมพลาสติกในปี 2561 สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.28% ของจีดีพีโดยประมาณ หรือมีปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11.46 ล้านตัน ปัจจัยหลักมาจากความต้องการใช้พลาสติกในการผลิตใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการแพทย์ ด้วยคุณสมบัติของพลาสติกมีความหลากหลาย อาทิ ความยืดหยุ่นสูง น้ำหนักเบา ทนความร้อน ทนทานต่อสารเคมีบางชนิด ป้องกันการซึมผ่านของน้ำหรือไขมันได้ อีกทั้งต้นทุนที่ต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำคุณสมบัติที่หลากหลายของพลาสติก มาประยุกต์ใช้ในการผลิตได้ ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยส่งผลกระทบอุตสาหกรรมที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ คาดการณ์ ความต่อเนื่องของโครงการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและสงครามการค้าระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ โดยสถาบันฯ คาดว่าอุตสาหกรรมพลาสติกจะขยายตัวเหนือจีดีพีประเทศเล็กน้อยที่ 3.9 – 4.0% ในปี 2563
ท่ามกลางพฤติกรรมการใช้พลาสติกของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มทบทวนการใช้พลาสติกมากขึ้น โดยจากสถิติปริมาณการใช้พลาสติกของคนไทยอยู่ที่ 56 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในทางของผู้ผลิตถือว่าเป็นความท้าทายที่ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มการลงทุนในเม็ดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ตลอดจนลดปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่ใช้งานได้ครั้งเดียว เพื่อเป็นการสะท้อนว่าผู้ประกอบการไม่ได้ละเลยปัญหาสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งเสริมการพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือเทคโนโลยีการผลิตที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตขั้นต้นน้ำ และกลางน้ำ ที่ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำมาปรับใช้ในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม นายคงศักดิ์ กล่าวสรุป
ดร.กฤษฎา สุชีวะ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งวัตถุดิบต้นน้ำที่มีความสำคัญในภาคอุตสาหกรรมไทยก็คือ ยาง โดยปริมาณการบริโภคยางของทั่วโลก 35% เป็นยางที่ผลิตจากประเทศไทย อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก โดยปริมาณการผลิตยางของไทยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านตัน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเล็งเห็นถึงโอกาสในการเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าต่างๆ ที่ใช้การแปรรูปจากยางธรรมชาติมากขึ้น โดยตัวอย่างของผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปยาง ที่ไทยสามารถผลิตและส่งออกได้จำนวนมาก เช่น เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย ถุงมือยาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของอุตสาหกรรมยางในประเทศไทยคือ การแข่งขันด้านคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าแปรรูปจากยาง นอกเหนือจากการแข่งขันเพียงแค่ในด้านปริมาณการผลิตยางในตลาดสากล ซึ่งการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตยาง จะทำให้ประเทศไทยพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในด้านคุณภาพของสินค้าแปรรูปจากยางในตลาดสากลได้ในไม่ช้า โดยปริมาณการแปรรูปยางธรรมชาติในประเทศที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ในปี 2561 ได้แก่ ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 38.48% และยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 0.54%
ผศ.ดร.สนติพีร์ เอมมณี ประธานสมาคมไทยคอมโพสิท กล่าวว่า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านแนวคิด New S-Curve นับเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยปัจจัยสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมไทย เพื่อไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือวัตถุดิบการผลิตคุณภาพสูง หนึ่งในวัตถุดิบการผลิตที่มีแนวโน้มความต้องการใช้สูงในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ พลาสติกคอมโพสิท โดยพลาสติกคอมโพสิทได้รับการคิดค้นและพัฒนามากว่า 50 ปี และยังมีแนวโน้มความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นมากถึง 10 เท่า มูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านบาท ภายใน 10 ปี ด้วยคุณสมบัติความคงทน แข็งแรง และน้ำหนักเบามาก ทำให้พลาสติกคอมโพสิทถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องการความปลอดภัยสูง 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมอากาศยาน อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องบินน้ำหนักเบา 2) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อาทิ แบตเตอรีในรถยนต์ไฟฟ้า 3) ระบบขนส่งมวลชน อาทิ ระบบรางรถไฟฟ้า 4) การเกษตรสมัยใหม่ อาทิ โดรนพ่นยาฆ่าแมลง และ 5) อุตสาหกรรมอวกาศ อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหารอวกาศ เป็นต้น
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้พลาสติกคอมโพสิทในการผลิต ยังถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงมาก การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัสดุคอมโพสิทจึงนับเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย ผู้ผลิตที่ต้องการก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ย่อมจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาพลาสติกคอมโพสิท และยกระดับเทคโนโลยีที่รองรับการผลิตวัสดุดังกล่าว เพื่อคว้าโอกาสที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ไว้ ผศ.ดร.สนติพีร์ กล่าวสรุป
มร.เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า ในด้านของภาครัฐมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการยกระดับอุตสาหกรรมไทย ไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในขณะที่ภาคผู้ประกอบการไทย จำเป็นต้องเดินหน้าไปพร้อมกับภาครัฐ โดยการพัฒนามาตรฐานและยกระดับคุณภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตอันล้ำสมัย เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เตรียมจัดงาน "ทีพลาส 2019" ที่สุดของมหกรรมเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางพาราครั้งยิ่งใหญ่ โดยภายในงานรวบรวมเทคโนโลยีและโซลูชันสุดล้ำ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์สมัยใหม่ วัสดุการผลิต ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป และระบบการจัดการเพื่ออุตสาหกรรมพลาสติกและยางพารา จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก รองรับโอกาสและการเติบโตสู่ฐานการผลิตหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"ทีพลาส 2019" มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ตลอดจนลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ www.t-plas.com